วันก่อน คุณลุงข้างบ้านนำกระเช้าผลไม้มาหาที่บ้านตามธรรมเนียมปีใหม่ เราสนทนากันเล็กน้อยในหัวข้อมลพิษทางอากาศที่กำลังเป็น “เทรนด์” และแนวโน้มเศรษกิจไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต

“เห็นนายกฯประกาศว่าปี 2565 จีดีพีต้องเพิ่มขึ้น 5% นะ”

ฉันยิ้มเล็กน้อยพลางพยักหน้ารับ 

ทุกคนดูฝากความหวังและชีวิตความเป็นอยู่ไว้ที่จีดีพี (GDP) แล้วมันเป็นคำตอบจริงหรือ? 

จีดีพี (GDP) ย่อมาจาก Gross Domestic Product คือ รายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ว่าจะมาจากสัญชาติใด ถ้ามีค่าเป็นบวกแปลว่า มีเม็ดเงินหมุนในประเทศมาก ถ้ามีค่าเป็นลบก็แปลว่า มีเม็ดเงินหมุนในประเทศน้อย 

ส่วนสมการของมันคือ GDP = C+I+G+(X-M) 

C คือ Consumption หรือการจับจ่ายของภาคเอกชนและประชาชน เช่น เราๆ ออกไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาด 

I คือ Investment หรือการลงทุนของภาคเอกชน เช่น บริษัท A ลงทุนสร้างโรงงานที่จังหวัดแห่งหนึ่ง (ก็จะมีการซื้อของเพื่อนำมาก่อสร้าง) 

G คือ Government spending หรือการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐ เช่น การซื้อเรือดำน้ำ รถถังหรือการใช้เงินเพื่อทำตามนโยบายรัฐต่างๆ 

เมื่อนำการจับจ่ายของภาคต่างๆ มารวมกับส่วนต่างที่ได้จาก X (Export หรือการส่งออก) กับ M (Import หรือการนำเข้า) ก็จะได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า “GDP” 

แต่ GDP ก็ไม่ได้รับประกันว่ารายได้จากกิจกรรมเหล่านั้นที่เกิดขึ้นจะเป็นตกของคนไทย 

อย่างที่กล่าวในข้างต้น จีดีพีชี้ให้เห็นถึงรายได้ที่ “เกิดขึ้นใน” ประเทศ สะท้อนให้เห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ารายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากกิจกรรมเหล่านั้นจะเข้ากระเป๋าคนไทยเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้เครื่องมือวัดอีกอันหนึ่งที่ชื่อ “จีเอ็นพี” (GNP – Gross National Product) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประชาชาติเพื่อวัดภาพรวมรายได้ของคนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

 

นอกจากนี้ GDP ไม่ได้วัด “การกระจายของรายได้” 

เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์นี้เป็นเพียงตัวเลขที่ทำให้เห็น “ภาพใหญ่” ของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศของปีนั้นๆ เท่านั้นเพื่อนำมาเทียบวัดกันในแต่ละประเทศ แต่ไม่ได้การันตีการกระจายของรายได้ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมเหล่านั้นว่าจะกระจายถึงคนหมู่เล็กหมู่น้อยหรือไม่และมีการกระจายที่เท่าเทียมกันหรือไม่ ซึ่งการกระจายของรายได้นั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ข้องเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ จากสมการด้านบน หากเรากระจายให้ทุกภาคส่วนมีการลงทุน/จับจ่ายเท่ากับ 1 

GDP = 1(C) + 1(I) + 1(G) + 1(X-M) 

GDP ก็จะเท่ากับ 4 

ทีนี้เรามาลองลดทอน “การจับจ่ายของภาคประชาชน” ให้เป็น 0 หมายความว่า ประชาชนไม่มีเงินที่จะเอาไปจับจ่ายใช้สอย”เลย” 

GDP = 0 + 2 + 1 + 1 

ก็จะเห็นว่าตัวเลข GDP ได้เท่าเดิมคือ 4 หากภาคเอกชน(อาจจะมาจากต่างประเทศก็ได้) สามารถลงทุนสร้างโรงงานในไทยได้เยอะขึ้น

หากสมการของเราคือ “รายได้ = คุณภาพชีวิต” แล้วล่ะก็เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อย่าง GDP ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เพราะนักการเมืองพยายามนำมากล่าวอ้างเพื่อจูงใจคนให้สละ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตดังจะเห็นได้ชัดจากกรณีมลพิษทางอากาศ(ที่แม้จะไม่บอกกันโต้งๆ แต่ก็การผลักให้คนเล็กคนน้อยไปหาวิธีแก้ไขเฉพาะหน้ากันเอาเองโดยอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ถูกพูดถึงน้อยและเบามาก) จึงสอบตกหากจะนำมาพิสูจน์สมการดังกล่าว สั้นๆ คือ “เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่ฉาบฉวยเกินกว่าจะนำมาชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชนได้” 

สุดท้ายนี้ เรื่องที่คุณลุงข้างบ้านไม่ได้บอกคือ 

ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศกำลังฉุดดึง GDP ของไทยลงอยู่ทุกชั่วขณะ หากยังไม่มีการแก้ไขที่ต้นตอ

มลพิษทางอากาศที่กลับมาเยี่ยมเยือนกรุงเทพฯ อีกระลอก © Arnaud Vittet / Greenpeace

ในขณะที่เรากำลังโฟกัสว่าเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ รัฐต้องกระตุ้นให้คนออกมาใช้เงินหรือต้องจับจ่ายอะไรบ้างเพื่อให้ตัวเลขจีดีพีเติบโต ปัญหามลพิษทางอากาศกำลังถ่วงการเติบโตนั้นอยู่อย่างมีนัยยะสำคัญ 

เรื่องนี้กรมควบคุมมลพิษเองเป็นผู้ที่ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาเมื่อครั้งที่จะกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 เมื่อเกือบสิบปีก่อน ผลปรากฏว่าเฉพาะปี พ.ศ. 2556 นอกจากฝุ่น PM2.5 จะทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คนแล้วมลพิษทางอากาศยังทำให้เกิดการสูญเสียสวัสดิการรวม (Total welfare loss) ไปกว่า 15,317 ล้านดอลลาร์หรือเทียบเท่ากับ 6.29 เปอร์เซ็นต์ของ GDP นี่ยังไม่นับอัตราการเจ็บป่วย การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและโอกาสของรายได้ที่หายไปของแรงงานและประชาชนทั่วไปที่มีฝุ่น PM2.5 เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัย 

แม้จะเป็นการศึกษาที่ค่อนข้างเก่าและไม่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาใดๆ ออกมาอีกหลังจากนั้น (รวมถึงไม่มีการพิจารณาปรับค่ามาตรฐานด้วย) แต่หากดูจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่รุนแรงขึ้นจนสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็พอจะอนุมานได้ว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้นมากกว่าที่ศึกษาไว้อย่างแน่นอน ดังนั้นการนำ GDP หรือการเติบโตของเศรษฐกิจมาเป็นข้ออ้างในการไม่จัดการแก้ไขปัญหาของมลพิษทางอากาศทั้งที่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้จึงเป็นอีกหนึ่งที่ย้อนแย้งและไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนักของรัฐบาลไทย

แล้วคุณภาพชีวิตที่ดีคืออะไร? 

เชื่อว่าแต่ละคนมีนิยามคุณภาพชีวิตที่ดีแตกต่างกันไปและนั่นก็ไม่มีถูกไม่มีผิด แต่เชื่อว่าไม่ว่านิยามนั้นจะเป็นอย่างไร การมีคุณภาพชีวิตที่ดีควรจะเริ่มต้นจากการมีปัจจัยพื้นฐานที่มีคุณภาพอย่าง “อากาศที่เราหายใจ” 

ใช่ว่าแค่มีอากาศไว้หายใจก็ถือว่ามีปัจจัยครบแล้วหนึ่ง แต่อากาศที่ทุกสิ่งมีชีวิตหายใจควรจะช่วยต่อยอดชีวิตในแต่ละการเข้าออกไม่ใช่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งร้ายในปอด ริดรอนอายุขัยหรือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กหรือคนๆ หนึ่งต้องอยู่แต่ในบ้าน และหาก GDP ยังคงเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตอยู่ งั้นคำถามที่อยากถามก็คือว่า

แล้ว GDP ต้องแตะตัวเลขเท่าใดประชาชนจึงจะได้รับอากาศที่ดีไว้หายใจ?

อนึ่ง เรื่องของลุงข้างบ้านเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นแต่เรื่องที่เหลือคือเรื่องจริงที่ลุงไม่ได้พูด 

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม