เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมาเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตโฟม EPS ของบริษัทหมิงตี้เคมีคอลจำกัด โดยต้นตอของเพลิงไหม้เกิดจากการระเบิดของถังเก็บสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารอันตรายขั้นสูงตามคู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งและเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ คำถามที่น่าชวนคิดคือทำไมโรงงานใช้สารเคมีอันตรายซึ่งรายล้อมไปด้วยชุมชนพักอาศัยของประชาชน จึงเล็ดรอดกระบวนการตรวจสอบโรงงาน-ความปลอดภัย และช่องโหว่ของกฎหมายโรงงานอุตสาหกรรม และความจำเป็นต้องมีกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR)
หากมองย้อนกลับไป หมิงตี้เคมิคอลได้เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทในเดือนมิถุนายน 2532 และได้รับใบอนุญาตเป็นโรงงานประเภทที่ 3 คำจำกัดความของโรงงานประเภทที่ 3 คือ โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า หรือมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลพิษ สำหรับเกณฑ์การตั้งโรงงานประเภทที่ 3 ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 ว่าโรงงานห้ามอยู่ใกล้บ้านจัดสรรเพื่อพักอาศัยในระยะ 100 เมตร อยู่ไกลจากโรงเรียน วัด โรงพยาบาลรวมถึงแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยโรงงานจะต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรม ตามขนาดและประเภทของโรงงาน โดยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายต่อบุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น
แม้ว่าโรงงานหมิงตี้เคมิคอลจะตั้งมานานกว่า 30 ปี แต่เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทละเว้นการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังปี 2551 ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ต้องจัดทำ EIA และหลังปี 2563 ได้มีประกาศให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมี จัดทำ “รายงานข้อมูล” ตามที่กำหนด แต่ยังไม่มีคำสั่งให้โรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนต้องย้ายโรงงานออกไปแม้ว่าจะมีการประกาศให้จังหวัดสมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี 2537
การจัดทำรายงานข้อมูลโรงงานที่มีสารพิษตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศออกมานั้นยังคงมีช่องโหว่อยู่มากเนื่องจากทางโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะรายงานข้อมูลสารพิษที่ตัวเองครอบครองแต่ไม่ได้พูดถึงวิธีการจัดการกับมลพิษที่ตนก่อขึ้น ซึ่งทางออกของปัญหานี้คือประเทศไทยควรมีกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) หรือรู้จักกันในนามกฎหมาย PRTR
PRTR คืออะไร ?
กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) เป็นกฎหมายที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ
หัวใจสำคัญของ PRTR คือสิทธิของชุมชนการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Community Right-to-Know) โดยแนวคิดในการจัดทำ PRTR มีพัฒนาการมาจากหายนะภัยสารเคมีของโรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ที่เมืองโภปาล ประเทศอินเดีย และอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลในสหรัฐอเมริกา คนงานและชุมชนที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายที่สาธารณชนสามารถเข้าถึง ในขณะนี้กว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้กฎหมาย PRTR เพื่อรักษาสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลและความปลอดภัยของประชาชน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ถ้า กม. PRTR เป็นเครื่องมือช่วยปกป้องประชาชน ทำไมนายกรัฐมนตรีจึงปัดตก
หากลองตรวจสอบจากกฎหมายที่กระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 7 จะพบว่ากฎกระทรวงฉบับนี้ระบุให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารเคมี หรือสารพิษต้องจัดทำข้อมูลรายงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่กฎหมายกระทรวงฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้ ดังนั้นเราไม่อาจพูดได้ว่า กฎหมายกระทรวงฉบับนี้คือ PRTR ของประเทศไทย
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ร่างกฎหมาย PRTR ที่ผลักดันโดยภาคประชาชนถูกปัดตกโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมันตรีโดยอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงินที่ไม่อาจยอมรับได้ แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดดูแล้ว การอ้างว่า PRTR เป็นกฎหมายทางการเงินนั้นเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่สุด หรือว่าการไม่ประกาศใช้ PRTR เป็นการสมรู้ร่วมคิดระหว่ารัฐบาลอำนาจนิยมและภาคอุตสาหกรรมที่กลัวสูญเสียผลประโยชน์และกำไรจากการลงทุน
การที่ไทยไม่มีกฎหมาย PRTR เปรียบเสมือนสวรรค์ของนักลงทุนหรือเป็นช่องทางด่วนในการกอบโกยผลประโยชน์ โดยที่ตนไม่จำเป็นต้องรายงานข้อมูลที่ละเอียดมากนัก และสามารถปกปิดวิธีการจัดการมลพิษอย่างไม่ถูกต้องได้อย่างแนบเนียน
อำนาจนิยมไม่นิยมกฎหมาย PRTR
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนให้หน่วยงานรัฐใช้ทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) เป็นเครื่องมือในการจัดการกับมลพิษและอุบัติภัยสารเคมี เพราะกฎหมายและกลไกการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศยังคงเน้นการใช้มาตรการกำกับและควบคุมที่ปลายทางเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจความเห็นจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในหลายจังหวัดอย่าง ระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการ แต่ไม่มีความคืบหน้าใดใดทั้งสิ้น ท้ายที่สุดอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมก็ปัดตกกฎหมายที่จะช่วยเหลือประชาชน
ประเทศไทยมีบทเรียนจากอดีตมากพอแล้วสำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สิน รวมถึงความปลอดภัยในชีวิต และสิ่งแวดล้อม หากรัฐยังนิ่งเฉยต่อร่างกฎหมาย PRTR เหตุการณ์จะถูกฉายภาพซ้ำวนไปเรื่อย ๆ จนในท้ายที่สุดประเทศไทยก็จะเป็นเพียงสรวงสวรรค์ของอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ
ฟังเวทีสาธารณะออนไลน์“#ผนงรจตกม : ปัดตกกฎหมาย! ผู้ก่อมลพิษไม่ต้องจ่าย?” ได้ที่นี่