จากรายงาน After the Binge the Hangover. Insights into the Minds of Clothing Consumers กล่าวว่า การตลาดแบบ Over Demand ทำให้การบริโภค “สินค้าแฟชั่น” ทั่วโลกนั้นล้นเกิน (Overconsumption) จนกลายเป็นปรากฎการณ์ เพราะพฤติกรรมของคนทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียต่างชอปปิงสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋าและเครื่องประดับต่างๆ เยอะจนเกินไปและผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งซื้อสิ่งของเหล่านี้เกินกว่าความจำเป็นที่พวกเขาต้องใช้ นอกจากนั้นคนรุ่นใหม่ยังนิยมซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์ที่ยิ่งทำให้การซื้อง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
เนื้อหาย่อๆ
- อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ผลิตผ้าให้กับแบรนด์ Fast Fashion นั้น ใช้น้ำในปริมาณมหาศาลและทำให้น้ำเหล่านั้นปนเปื้อนสารพิษ รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม
- เสื้อผ้าของเรานั้นประกอบไปด้วยใยสังเคราะห์มากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งใยสังเคราะห์นี้จะหลุดออกจากเสื้อในระหว่างการซักผ้าแต่ละครั้ง กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กปนเปื้อนลงสู่ทะเลและมหาสมุทร
- พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งถูกผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อห่อสินค้าต่างๆ และในช่วงเทศกาลลดกระหน่ำ Black Friday ก็จะมีขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่ถูกทิ้งเอาไว้
- ด้วยการผลิตในปริมาณมากและต้องใช้ต้นทุนต่ำทำให้ Fast Fashion เข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม
หลังจากประสบความสำเร็จในงานรณรงค์ Detox กรีนพีซต่อสู้กับการใช้สารพิษในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผลักดันให้อุตสาหกรรมดังกล่าวยั่งยืนมากขึ้น โดยผลลัพธ์คือแบรนด์สิ่งทอระดับโลก 80 แบรนด์ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติการใช้สารพิษในอุตสาหกรรมของตัวเองภายในปี พ.ศ.2563
แม้ว่าเราจะได้รับชัยชนะเกี่ยวกับการยุติการใช้สารพิษ แต่เรายังคงรณรงค์ในเรื่องของ วิถีการบริโภคของพวกเราเพื่อปกป้องโลก เราต้องเปลี่ยนวิถีการบริโภคของเรา เปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสิ่งของ โดยเน้นซื้อเฉพาะของที่จำเป็น ใช้ซ้ำของที่ยังมีอยู่ หรือนำกลับมาซ่อมแซมใหม่
ซื้อเยอะเกินไป ทำร้ายโลกโดยไม่รู้ตัว
ตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 เป็นต้นมา Fast Fashion ได้รับความนิยมเป็นพลุแตก มูลค่าการซื้อเสื้อผ้าในปีนั้นคือ 1พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ.2558 เป็นมูลค่า 1.8 พันล้านดอลล่าร์ แต่สินค้าแฟชั่นจากแนวคิด Fast Fashion นี้ ถูกทิ้งกลายเป็นขยะมากกว่าครึ่งหนึ่งจากการซื้อทั้งหมดภายในเวลาไม่ถึงปี
อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ผลิตผ้าให้กับแบรนด์ Fast Fashion นั้น ใช้น้ำในปริมาณมหาศาลและทำให้น้ำเหล่านั้นปนเปื้อนสารพิษ รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม พวกเขานำน้ำเหล่านี้ไปใช้ในการผลิตฝ้าย ใยโพลีเอสเตอร์และใยฝ้ายเทียม นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอยังใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นๆ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ฝ้ายและไม้ ซึ่งพลังงานเชื้อเพลิงนั้นถูกใช้ไปกับการขนส่งเสื้อผ้าไปทั่วโลก นอกจากนี้การจัดการน้ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอยังปล่อยสารพิษปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรราวๆ 3,500 ชนิดอีกด้วย
ใยสังเคราะห์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในการทำร้ายโลกของอุตสาหกรรมสิ่งทอเพราะในเสื้อผ้าของเรานั้นประกอบไปด้วยใยสังเคราะห์มากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งใยสังเคราะห์นี้จะหลุดออกจากเสื้อในระหว่างการซักผ้าแต่ละครั้ง กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กปนเปื้อนลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ใยเส้นเล็กๆเหล่านี้อาจถูกสัตว์ทะเลกินเข้าไป แน่นอนใยเหล่านี้ก็จะหลุดเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหาร
เครื่องประดับสารตะกั่ว
องค์การ Center Environmental Health เปิดเผยงานวิจัยที่ระบุว่า ตรวจพบสารตะกั่วในระดับเกินมาตรฐานในเครื่องประดับหลากชนิดของแบรนด์ Fast Fashion ชื่อดัง ซึ่งจริงๆแล้วการควบคุมไม่ให้มีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานในเครื่องประดับนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันอันตรายในหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยปกป้องเด็กๆในครอบครัวจากอันตรายของสารตะกั่วอีกด้วย
BLACK FRIDAY กำลังทำให้ขยะล้นทะลัก
นอกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้าแฟชั่นจากแบรนด์ Fast Fashion ที่ลดกระหน่ำทั้งในวันโปรโมชั่นต่างๆ หรือช่วง Black Friday แล้ว พลาสติกคือของแถมจากการซื้อสินค้าเหล่านี้ พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งถูกผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อห่อสินค้าต่างๆ และในช่วงลดกระหน่ำช่วงนี้ จะทำให้เกิดกองขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งกองเท่าภูเขาลูกใหญ่และจะกลายเป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อมตามมา
Fast Fashion กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยการผลิตในปริมาณมากและต้องใช้ต้นทุนต่ำทำให้ Fast Fashion เข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอินเดีย บังคลาเทศ หรือประเทศที่มีต้นทุนเรื่องค่าแรงต่ำ นอกจากพวกเขาต้องทำงานที่ไม่ได้ค่าแรงอย่างเป็นธรรมแล้วยังถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลา