ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 นี้ ใครหลาย ๆ คนอาจต้องเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์การทำงานจากการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ เปลี่ยนเป็นการทำงานที่บ้านแทนเพื่อสุขภาวะของตัวเราและครอบครัว และเราอาจจะต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น เราจึงนำเสนอวิธีที่จะช่วยให้ชีวิตการทำงานที่บ้านของเราสนุกขึ้นและยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เมื่อเราจำเป็นต้องใช้ช่องทางออนไลน์ เมื่อการนัดพบเพื่อนฝูงและปฏิทินการนัดหมายถูกยกเลิกเพราะไวรัส COVID – 19 ในช่วงเวลาวิกฤตนี้การทำงานอยู่ที่บ้านจะช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสและการติดเชื้อ รวมทั้งช่วยไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนัก และเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่จะช่วยให้ชีวิตของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแม้ว่าเราจะอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น

1.ทำอาหารเองบ้าง สั่งอาหารแบบ Delivery ให้น้อยลง

World Meat Free Day Event in Phuket. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
ลดขยะพลาสติกด้วยการทำอาหารจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในครัว © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

ชีวิตของเราอาจเคยเป็นชีวิตที่เร่งรีบ ต้องซื้ออาหารมากินที่บ้านหรือสั่งอาหารแบบ Delivery มากิน แต่ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำอาหารกินเองบ้างแล้วด้วยวัตถุดิบที่เลือกซื้อเอง รู้หรือไม่ว่าอาหารสำเร็จรูปใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อบรรจุอาหารเป็นจำนวนมาก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้ก็กลายเป็นมลพิษพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากในหนึ่งวันเราลดการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ลง และทำอาหารมากขึ้นก็จะช่วยลดปัญหามลพิษพลาสติกได้ดีทีเดียว นอกจากนี้เรามีเมนูอาหารจานผักทำเองที่บ้านง่าย ๆ มาฝากทุก ๆ คนด้วยค่ะ ลองดูเมนูอาหารที่นี่ได้เลย

2.ใช้เวลาซ่อมแซมเสื้อผ้า หรือทำสิ่งของที่จำเป็นด้วยตัวเอง

Make Something Day in Hamburg. © Dmitrij Leltschuk / Greenpeace
ซ่อมแซมเสื้อผ้าตัวโปรดให้กลับมาน่ารักน่าใส่อีกครั้ง © Dmitrij Leltschuk / Greenpeace

เสื้อเชิ้ตตัวเก่งตัวนั้นที่คุณทำกระดุมหลุดหายไป ถุงเท้าคู่สวยที่ใส่บ่อยจนเป็นรู เก้าอี้ทำงานที่น็อตหลุดหายไป นี่เป็นโอกาสที่ดีที่คุณจะมีเวลาว่างมาซ่อมแซมเสื้อผ้า เครื่องประดับ และของใช้ในบ้านแทนที่จะทิ้งไปและซื้อใหม่ การซ่อมแซมเสื้อผ้าและของใช้แบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการลดขยะและสร้าง “แนวคิดการใช้ซ้ำ” ให้ของใช้ของเรามีอายุการใช้งานได้นานขึ้นและช่วยประหยัดเงินได้อีกด้วย 

3.หยุดชอปปิงของที่ไม่จำเป็นผ่านช่องทางออนไลน์

ปัจจุบันชาวฮ่องกงกำลังเผชิญกับปัญหา การบริโภคที่ล้นเกิน ภาพนี้สื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ว่า ผู้หญิงซื้อเสื้อผ้าจำนวนมากจนล้นตู้เสื้อผ้า

แม้ว่าการชอปปิงรองเท้าคอลเลคชั่นใหม่ หรือชอปปิงอุปกรณ์เสริมสำหรับโซฟาที่บ้าน หรือการซื้อเสื้อผ้าใหม่อาจเป็นการฆ่าเวลาได้ดีทีเดียว แต่ของเหล่านี้จะถูกขนส่งมาพร้อมกับกล่องบรรจุและวัสดุกันกระแทกจากพลาสติกในปริมาณมาก รวมทั้งยังเป็นการสร้างขยะที่เป็นมลพิษโดยที่เราไม่รู้ตัว จากรายงาน After the Binge the Hangover. Insights into the Minds of Clothing Consumers กล่าวว่า การตลาดแบบ Over Demand ทำให้การบริโภค “สินค้าแฟชั่น” ทั่วโลกนั้นล้นเกิน (Overconsumption) จนกลายเป็นปรากฎการณ์ เพราะพฤติกรรมของคนต่างชอปปิงสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋าและเครื่องประดับต่างๆ เยอะจนเกินกว่าความจำเป็นที่พวกเขาต้องใช้  และความนิยมซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์ที่ยิ่งทำให้การซื้อง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ เรามาพยายามลดการชอปปิงออนไลน์สินค้าที่ไม่จำเป็น เป็นการลดขยะและประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อีกด้วย

4.ส่งต่อของที่ไม่ใช้แล้ว และการ DIY

“น้อยแต่มาก” หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อนั่นคือ มินิมัลลิสต์ (Minimalists) เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่หลายคนนำมาปรับใช้กับไลฟ์สไตล์ซึ่งก็คือการประหยัด ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก โดยซื้อเฉพาะของที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น ไลฟ์สไตล์แบบนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าอะไรที่จำเป็นกับเราและอะไรไม่จำเป็น และจะช่วยให้เราได้ส่งต่อสิ่งจำเป็น (สภาพดี) เหล่านั้นให้กับคนอื่น ๆ ที่ต้องการมากกว่าเรา นอกจากนี้ยังจะช่วยให้เราได้เอาของใช้เก่า ๆ มาดัดแปลงเป็นสิ่งใหม่ที่จำเป็นกับเรามากกว่าเดิมอีกด้วย เช่น นำกระดาษเหลือใช้มาเย็บเป็นสมุดจด นำเศษผ้ามาเย็บเป็นกระเป๋า เป็นต้น หรือหากคิดไม่ออกให้ลองดูคลิปการสาธิตงาน DIY ต่างๆเพื่อช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้กับของที่เราไม่ใช้แล้ว หรือร่วมแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ ได้ที่ Facebook group: สถานี DIY Make SMTHNG Buy Nothing

5. ลดขยะแล้วอย่าลืมแยกขยะ 

แยกขยะออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น กระดาษ ขวดแก้ว พลาสติกใส พลาสติกขุ่น เศษอาหาร (นำไปทำปุ๋ยในบ้านได้ด้วยนะ ดูวิธีทำปุ๋ยจากเศษอาหารได้ที่นี่เลย) ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะติดเชื้อ (หน้ากากอนามัยที่เราใช้ทุกวันถือเป็นขยะติดเชื้อ) เราแนะนำให้แปะป้ายบอกประเภทขยะด้านหน้าถุงขยะ เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บและช่วยกันปกป้องสุขภาพของพี่ ๆ ที่เก็บขยะด้วย ส่วนกระดาษ หรือพลาสติกบางประเภท ยังสามารถนำไปขายได้ด้วย

บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับ อ่านบทความต้นฉบับ