ที่ผ่านมาชุมชนหลายแห่งลุกขึ้นมาทวงถามภาครัฐต่อการนำโครงการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมเข้าไปในชุมชน การดำเนินการที่พบข้อพิรุธจนทำให้ชุมชนเกิดข้อห่วงกังวลหลายข้อ รวมทั้งผลกระทบในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นอีกมากมาย เราเห็นตัวอย่างจากการเดินเท้าของชาวบ้านจากบ้านเกิดขึ้นมายังเมืองหลวง มีการชุมนุมเพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่รัฐกำลังจะปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมนั้น ยังมีพวกเขาที่เป็นคนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการที่กำลังจะไปถึง

ตั้งแต่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไปจนถึง โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ หรือแม้กระทั่ง โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่เป็นที่พูดถึงเมื่อชาวบ้านเดินทางจาก อ.จะนะ จ.สงขลา มาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในหลาย ๆ กรณีที่ รัฐฉกฉวยทรัพยากรจากชุมชน เอื้อผลประโยชน์ให้กับคนเพียงบางกลุ่ม สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชน เป็นปัญหาเรื้อรังที่ถูกเก็บเงียบมาเนิ่นนาน

'Heart for Sea' Solidarity Activity in Teluk Patani, Thailand. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
© Baramee Temboonkiat / Greenpeace

ในกรณีของ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกและบ้านกรูด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เองก็เช่นกัน ที่ชาวบ้านจะต้องทวงถามรัฐถึงสิทธิบนที่ทำกินและปกป้องพื้นที่ให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ก่อนจะถูกโครงการอุตสาหกรรมกลืนกิน คุณหนิง สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล หนึ่งในคนของชุมชนจะถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ในครั้งนั้นให้เราได้ฟัง

รู้จัก สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล

Activists in Southern Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ฝ่ายวิชาการของกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก © Biel Calderon / Greenpeace

เราเป็นฝ่ายวิชาการของกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก เป็นชาวบ้านที่อยู่ในทับสะแกตั้งแต่เกิด และเราเป็นหนึ่งในเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดประจวบฯซึ่งได้ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในประจวบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบัน ชายฝั่งที่ทับสะแกเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลซึ่งพวกเราก็พยายามช่วยกันรักษาเอาไว้ ส่วนอาหารการกินดี ๆ ของดีก็มีมะพร้าวที่เนื้อดีที่สุดในไทยซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย

ตอนนั้นที่นี่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมาตั้ง 3 โรงเพื่อสนับสนุนเรื่องพลังงาน ทำสาธารณูปโภคขึ้นก่อนจะทำนิคมอุตสาหกรรม โดยวางแผนจะตั้งโรงไฟฟ้าตั้งที่ตอนเหนือของบ่อนอก ที่ อ.ทับสะแก และที่บ้านกรูด ถ้าขึ้นโรงไฟฟ้าได้นิคมอุตสาหกรรมที่เป็นโรงถลุงเหล็กก็จะตามมา ตอนนั้นเรียกว่าเขาตั้งเป้าให้บ้านเรามีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพราะประจวบฯอยู่ติดฝั่งชายทะเล สามารถทำท่าเรือขนส่งถ่านหินได้

ชาวบ้านต่อสู้เพราะไม่รู้จะหนีไปที่ไหน

นอกจากพวกเราชาวบ้านจะกลัวตายจากมลพิษแล้ว ถ้าโครงการนี้เข้ามาเราไม่ต่อสู้คัดค้านแล้วเราจะหนีไปที่ไหน? จะเปลี่ยนอาชีพไปทำอะไร? อย่างชาวประมงก็มีความชำนาญด้านประมงแต่ถ้าเปลี่ยนอาชีพไปเขาก็นึกไม่ออกว่าจะไปทำงานอะไรที่ดีกว่าชาวประมง หรือชาวสวนที่มีที่ดิน มีความชำนาญในด้านการปลูกพืช ถ้าให้ออกจากพื้นที่แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน หรือทำอะไรต่อ ดังนั้นถ้าสู้ยังมีโอกาสรอด แต่ถ้าไม่สู้เราตายเรียบ ซึ่งในกระบวนการต่อสู้ เราก็รู้ดีว่าอาจสูญเสียชีวิตแต่เสียบางส่วนดีกว่าเสียทั้งหมด

อย่างชาวบ้านที่บ่อนอกรวมเงินกันเช่ารถไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะเลยนะ ส่วนเราตอนนั้นสิ่งที่ทำคือรีวิวข่าวเดิมของโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะ นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ตอนสมัยเรียนมีชาวบ้านจากแม่เมาะมาร้องเรียนเรื่องโครงการเหมืองถ่านหินที่นั่น เราจำคนที่มาร้องเรียนได้เขาเป็นครูสอนที่แม่เมาะ หลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิตเพราะโรคปอด ตอนนั้นก็ทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม ติดตามกรณีนี้กับเรื่องสัมปทานป่าไม้ พอติดตามไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกช็อคเพราะได้เห็นแล้วว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เราใจหายตอนที่รู้ว่าบ้านเรากำลังจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้ง แล้วเราต้องสู้กับแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมนะ ตอนนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว

Locals Welcome Greenpeace. © Greenpeace / Vinai Dithajohn
ชาวบ้านจาก อ.ทับสะแก บ่อนอก แม่รำพึง อ่าวน้อย และบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับการปฏิวัติพลังงานและร่วมทำกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในปีพ.ศ. 2551 © Greenpeace / Vinai Dithajohn

เรารู้ดีว่ารัฐเขาก็คิดอีกแบบ แต่ชาวบ้านเราก็คิดอีกแบบ การต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นขบวนการต่อสู้ใดก็ตามมันจะมีแค่แกนนำไม่ได้ มันต้องมีพลังมวลชนของคนในชุมชนมาร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ในกรณีของพวกเราชาวบ้านคือหยุดไม่ให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ให้ขึ้นเลยสักโรง เราจึงรวมตัวชาวบ้านจาก 3 พื้นที่นี้เป็นเครือข่าย เราเคลื่อนขบวนโดยใช้สีเขียวที่สื่อถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เราก็อยู่ไม่ได้

ในการต่อสู้นี้ชาวบ้านจึงต่อสู้ด้วยบทบาทต่าง ๆ ในขบวนชาวบ้านยังมีอีกหลายภาคส่วนที่มาร่วมและขับเคลื่อนตามความถนัดของตัวเอง บางคนก็มาเป็นแม่ครัว บางคนมาเป็นการ์ด บางคนมาทำงานด้านวิชาการ ช่วยกันระดมทรัพยากร เราทำความเข้าใจร่วมกันว่าเครือข่ายเราจะต้องดูแลกัน หากมีปัญหาในพื้นที่ใด เครือข่ายจะต้องเข้าไปช่วยกันเพราะมันเป็นแผนพัฒนาเดียวกัน ต่อสู้เพื่อตัวเองและลูกหลาน วันนั้นเราคิดแบบนั้นพอมาถึงวันนี้ก็รู้สึกว่าคิดถูก

จากชุมชนที่ถูกรัฐบาลถีบทิ้ง เราเริ่มต้นสู้จากที่เราไม่มีอะไรเลยแต่ชาวบ้านเขาจริงจังเพราะว่าเขาย้ายไปที่ไหนไม่ได้ โรงไฟฟ้าจะมาตั้งอยู่ใกล้บ้านเรามากนะ ห่างจากบ้านเราแค่ 2 กิโลเมตรเอง

ใช้ความเข้มแข็งของชุมชนต่อรองกับอำนาจรัฐ

จำนวนคนที่เยอะและเข้าใจในประเด็นร่วม แต่จำนวนคนอย่างเดียวไม่พอแน่ ๆ ม็อบแต่ละครั้งเรามีการประเมินสถานการณ์ก่อน มีแผนไหนบ้างที่เราจะต้องใช้ ส่วนใหญ่เป็นการประเมินล่วงหน้าว่าเราจะต้องเจอกับอะไร กำหนดเป้าหมายร่วมกันแล้วไปให้ถึงเป้าหมายนั้น มีการวางแผนหนึ่ง แผนสอง บวกกับใช้ประสบการณ์จากการต่อสู้กับแผนพัฒนาฯนี่แหละทำให้เรารู้ทันนักการเมือง ถ้าเราไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ก็จะต้องมานั่งสรุปบทเรียนกันเพื่อที่ครั้งต่อไปต้องไม่ผิดพลาดแบบเดิม

ประมาณปีพ.ศ.2551 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกเปิดประชาพิจารณ์เรื่องเรื่องแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) มีจดหมายเชิญพวกเราไป เราก็รวมชาวบ้านจากบ้านกรูด บ่อนอก ทับสะแกไปร่วมงานกัน ตอนนั้นร้อนใจมากเพราะคิดว่าแผนจะผ่านแน่ ๆ พวกเราต้องการไปพูดในเวทีประชาพิจารณ์แต่การประชุมถูกยกเลิกก็เลยรวมตัวกันพูดที่หน้าโรงแรมที่จัดเวทีนั่นแหละ

เมื่อการประชุมยกเลิกเราก็ต้องปรับแผนกระทันหัน เราเลือกเคลื่อนขบวนไปที่หน้ากระทรวงพลังงานพร้อมเสนอข้อเสนอที่ว่า ให้ยกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานที่จากเดิมเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าไปทำภารกิจที่ไหนไม่รู้ มาพบพวกเราไม่ได้ สุดท้ายก็มาได้นะ มีการเปิดเจรจาและเซ็นจดหมายว่ารัฐบาลชุดนั้นจะยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก

“ถ้ามลพิษไปถึงที่ไหน ก็เป็นสิทธิของชาวบ้านสามารถไปคัดค้านถึงที่นั่น หากเขาได้รับผลกระทบถึงกันมันก็เป็นความชอบธรรมที่เขาจะออกมาคัดค้าน ซึ่งการเชื่อมโยงเครือข่ายด้วยมลพิษเราอธิบายกับสังคมได้ว่าทำไมเราจะต้องรวมตัวกัน”

“การต่อสู้ที่น่าเบื่อที่สุดคือการต่อสู้กับรัฐบาลที่เฉยชา ปัดสวะเอาตัวรอด ไม่รู้ร้อนหนาวกับความเดือดร้อนของชาวบ้านเวลาชาวบ้านยกโขยงไปที่ที่ทำเนียบ ไปปิ๊กอัพเดียว ก็ไม่ให้ค่า  ไป35รถบัสก็ไม่สนใจหลอกให้เรากลับบ้านอย่างเดียว  ไม่สนใจจะแก้ปัญหา นายกรัฐมนตรีที่มาจากลูกชาวบ้านแต่กลับเป็นคนที่ชาวบ้านเจอตัวยากที่สุด เราเห็นว่า เรื่องจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงถลุงเหล็กมันเป็นเรื่องทุบหม้อข้าวเรา ตีค่าชีวิตเราเท่ากับศูนย์  เราจึงรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก สุดท้ายชาวบ้านต้องปิดถนน บล็อกนายกชวน หลีกภัยตอนมาเปิดโรงสีพระราชทานที่ประจวบ ถึงจะได้เจอถึงจะได้ยื่นจดหมาย”

Time Capsule with Thai Environmental Movement History. © Athit Perawongmetha / Greenpeace
กรีนพีซและชุมชนในจ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมฝังแคปซูลเวลา เพื่อเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 29 กันยายน 2553 © Athit Perawongmetha / Greenpeace

“สำหรับชุมชน เรายืนยันมาตลอดว่าใช้การต่อสู้แบบสันติวิธีนะ การต่อสู้โดยใช้การรณรงค์ผ่านสื่อก็จะดี แล้วก็อย่าใช้ปืนผาหน้าไม้ เพราะว่ามันจะนำไปสู่การพ่ายแพ้ได้อย่างอัตโนมัติ ใช้ปากเป็นอาวุธก็ได้ ม็อบคนประจวบนี่ก็ใช้ปากเป็นอาวุธ ใช้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บ้าง เก็บสะสมชัยชนะไปเรื่อย ๆ เราคิดว่าที่ผ่านมาการบทเรียนในหลายเรื่องการต่อสู้ในการใช้ความรุนแรง สุดท้ายแล้วมันไม่เป็นผลดีกับใครเลย”

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลมักจะทำคือการนิ่งเฉย การนิ่งเฉยของรัฐบาลเนี่ยมันไม่ใช่สันติวิธีนะ ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมขึ้นมาได้ ถ้าคุณเต็มใจเข้ามาทำงานบริหารบ้านเมืองคุณต้องรับฟัง ช่วยเหลือประชาชน ถ้าเลือกจะอยู่เพิกเฉยก็ไม่ต้องมาเป็นรัฐบาลก็ได้

ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นการเมืองไหม?

มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันอยู่แล้วเพราะมันมีผลประโยชน์ นักการเมืองจะดูว่าเขาได้ประโยชน์อะไรซึ่งก็จะเอาปัจจัยนี้มาตัดสินใจ อย่างการจะเอานิคมอุตสาหกรรม โรงถลุงเหล็กมาตั้งที่ประจวบฯ หรือโครงการย่อยสลายแท่นขุดเจาะน้ำมันมาไว้ที่ทับสะแกนี่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ทั้งหมดเลย ซึ่งผลประโยชน์นั้นไม่ใช่ของชาวบ้านแต่เป็นของกลุ่มทุนไม่กี่บริษัท ชุมชนจะสู้ก็ต้องสร้างความเท่าทันรวมกลุ่มกันให้เยอะให้หนาแน่น เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองต่อรัฐได้มากขึ้น

“ชาวบ้านเราต้องกำหนดนักการเมือง เลือกมึงผิด สมัยหน้ากูไม่เลือกมึง เรามีโอกาสเลือก แต่ไม่ใช่เลือกนักการเมืองไปแล้วตรวจสอบไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือกระบวนการตรวจสอบนักการเมือง ถ้ากลไกตรงนี้ไม่เดิน สื่อมวลชนก็ตรวจสอบไม่ได้มันก็พังกันหมด คือตอนที่พวกเราคัดค้านได้ สื่อมวลชนเข้มแข็งไง ถ้าสื่อมวลชนไม่เป็นอิสระและเข้มแข็งจริง ๆ นะทำได้ยากมาก  แต่ถ้าสื่อมวลชนอ่อนแอ ชาวบ้านจำเป็นต้องขึ้นมาทำเรื่องสื่อสารต่อสังคมเองให้ได้”

ล่าสุด กฎหมายผังเมืองที่ชาวบ้านทับสะแกร่วมวางแผนเพื่อหวังว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมดี เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนายั่งยืน มีความปลอดภัยและสงบสุข พอถูกคำสั่งของ คสช. ใช้มาตรา 44 ยกเลิกกฎหมายผังเมืองแล้วอนุญาตให้โครงการกำจัดขยะอุตสาหกรรมอย่างแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้ามาตั้งได้ พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบก็คือทับสะแกทั้งอำเภอซึ่งนี่เป็นระเบิดเวลาที่ภาครัฐวางเอาไว้เอง  เพราะมันเกิดความขัดแย้งแน่นอนเพราะระดับมลพิษ และความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้น มันเกินกว่าที่ชุมชนจะรองรับและควบคุมได้

Break Free Forum in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
คุณสุรีรัตน์ กรีนพีซและเครือข่าย ร่วมเสวนาพูดคุยเรื่องถ่านหินในงานเสวนา Break Free 2017 © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

เรามองว่าวิธีการคิดแบบเอาเศรษฐกิจนำ คำนวนแต่ GDP กลุ่มทุนอย่างเดียวมันใช้ไม่ได้ GDPกลุ่มทุนสูงแต่ GDP ชาวบ้านร่วงต่ำไปเรื่อย ๆ และมันทำให้ประชาชนกลายเป็นเหยื่อ กรณีประจวบฯนี้เราคิดว่าเป็นบทเรียนที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าชุมชนที่เข้มแข็งจะทำให้มีอำนาจต่อรองกับภาครัฐและอยู่รอดจากมลพิษ

เพื่อนร่วมทางในการต่อสู้

การทำงานประเด็นสิ่งแวดล้อมนี้พวกเรามีเพื่อนที่ร่วมทางไม่เยอะ ตอนที่ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินโครงการมันใหญ่ ทุนหนา คนที่มาร่วมทางกับเรานับนิ้วได้ กรีนพีซก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่เป็นเพื่อนของเรา อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้เราที่จะรณรงค์ยุติโครงการที่ก่อมลพิษสูงให้สังคมรับรู้ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่ายังมีคนที่เข้าใจเรา

Locals Welcome Greenpeace. © Greenpeace / Vinai Dithajohn
ชาวประมงจากชุมชนใน อ.ทับสะแก บ่อนอก แม่รำพึง อ่าวน้อย และบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมต้อนรับเรือรณรงค์ของกรีนพีซ Rainbow Warrior เพื่อร่วมทำกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในปีพ.ศ. 2551 © Greenpeace / Vinai Dithajohn

พอมีเพื่อนร่วมทางที่คิดเหมือนกัน เหมือนช่วยกันยืนยันว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันก็คงไม่ผิดแล้ว ซึ่งเราก็คิดว่าการทำงานช่วยเหลือกันแบบนี้จะต้องมีอยู่ เพื่อให้คนอื่น ๆ ในสังคมได้เรียนรู้ว่ามีองค์กรที่พร้อมจะเป็นเพื่อนคุณในด้านสิ่งแวดล้อม แต่ถึงอย่างไรชุมชนต้องช่วยตัวเองเป็นหลักนะไม่ใช่ไปเกาะเขา เพราะองค์กรเขาก็จะช่วยในบทบาทที่เขาทำได้

ชาวประจวบฯขอกำหนดอนาคตของตัวเอง

หนังสือ “ชาวประจวบฯขอกำหนดอนาคตของตัวเอง” เราเขียนขึ้นหลังจากที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกและบ้านกรูด จนมีการชะลอโครงการไปแล้ว จึงเหมือนได้ช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของชาวบ้านประจวบฯไว้  ซึ่งในช่วงนั้น ความขัดแย้งในจังหวัดประจวบยังไม่จบสิ้น เพราะพื้นที่บางสะพานถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ที่ทำโรงถลุงเหล็ก พื้นที่ทับสะแกก็ยังถูกกฟผ.กำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก เราก็มาคุยกันว่าทำไมบ้านเรายังคงเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมต่าง ๆที่มลพิษสูงอย่างไม่จบไม่สิ้นเช่นนี้  เราไม่ต้องคัดค้านโครงการมลพิษสูงจนแก่เลยหรือ?  

จากการศึกษาเราพบว่า ปัญหามาจากแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกกำหนดทิศทางมาจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมเหล็กที่ใช้ไฟฟ้าสูงมาก เราถึงต้องสู้ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงถลุงเหล็กไม่จบสิ้น  ที่น่าตลกคือ อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมทารกที่ไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง รัฐต้องอุ้มตลอดเวลา เพราะประเทศเราไม่มีวัตถุดิบและไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  พอศึกษาลงลึกพบว่าสภาพัฒน์เป็นผู้รับลูกจากญี่ปุ่น เค้าจะย้ายฐานอุตสาหกรรมมลพิษสูงออกจากประเทศเค้า ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเรายืนยันว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่อนาคตที่ดีของประเทศไทยและควรยุติโครงการทั้งประเทศหมดยุคถ่านหินแล้ว ตอนนั้นเราก็เลยสรุปกันว่า หากทิศทางการพัฒนามันยังเป็นแบบนี้มันจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนประจวบจะมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะจังหวัดเรามีจุดแข็งด้านเกษตร  ประมงและการท่องเที่ยว ถ้าเราไม่ช่วยกันค้านโครงการมลพิษสูง สุดท้ายจังหวัดประจวบฯจะกลายเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อมลพิษไม่ต่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

Activists in Southern Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
คุณสุรีรัตน์ อธิบายถึงบริเวณที่เป็นจุดวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับจุดวางโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน © Biel Calderon / Greenpeace

เราเกิดที่นี่ และจะอาศัยอยู่ที่นี่จนตายแน่นอน เราชาวประจวบฯควรมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเอง ไม่ใช่ข้าราชการซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอที่อยู่ไม่เกิน 4 ปีก็ย้ายไปที่อื่นเป็นคนกำหนดทิศทางการพัฒนาแทนเรา

 เรามอบหนังสือ..ชาวประจวบฯขอกำหนดอนาคตของตัวเอง เป็นของขวัญวันปีใหม่ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ต้องมีส่วนในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในบทบาทและข้อเรียกร้องของเราที่ต้องการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด คือเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนา มา เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการเกษตร ประมงและการท่องเที่ยว ซึ่งคนส่วนใหญ่ในจังหวัดร้อยละ 90 ทำงานในภาคส่วนนี้อยู่

เนื้อหาของหนังสือคืองานวิเคราะห์เชิงบูรณาการข้อมูลพื้นฐานศักยภาพที่แท้จริงของจังหวัดประจวบฯ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาที่สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สนับสนุนการกระจายรายได้ที่เป็นธรรรม ลดความเลื่อมล้ำจากการพัฒนา ลดความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากร  สร้างสังคมสมานฉันท์ ที่เราเชื่อมั่นว่า  นี่คือทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตอนนี้ประจวบฯเปลี่ยนทิศทางการพัฒนามาได้ครบ10ปี แล้ว  เราคิดว่า สิ่งที่พวกเราคิดและทำ  ได้นำพาจังหวัดประจวบฯไปสู่การพัฒนาที่ถูกทิศทางแล้ว

“ไม่มีใครเข้าใจประเด็นสิ่งแวดล้อมและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีเท่ากับคนในชุมชน เพราะฉะนั้นความหวังในการรักษาสิ่งแวดล้อมมันขึ้นอยู่กับชุมชนเล็ก ๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือว่าคนรุ่นไหนก็ได้ ถ้าคุณได้รับผลกระทบจากโครงการนั้นน่ะ คุณต้องเรียกร้องตัวเองออกมามีส่วนร่วม”

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม