พฤศจิกายน 2562         

ถึง ชาวกรุงเทพที่รัก

             สวัสดี  เป็นอย่างไรบ้าง? ข่าวว่าลมหนาวโชยมาแล้วคงเป็นสัญญาณของฤดูหนาวสินะ ฉันหวังว่าเธอจะยังสบายดี ปีที่ผ่านมา เพื่อนของฉัน ล้มป่วยไปเสียหลายคนทีเดียวล่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคติดเชื้อในระบบหายใจ โดยเฉพาะเด็กกับคนชราเพราะมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน  ฉัน รู้มาว่ากรุงเทพฯ เองที่ผ่านมาก็เจอกับวิกฤตมลพิษทางอากาศ  เธอยังสบายดีอยู่หรือไม่?

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาฉันได้ไปฟัง เวทีสาธารณะชื่อ “ข้อตกลงอาเซียนปลอดหมอกควัน Haze Free 2020 ไปถึงไหน” ที่จัดโดยกรีนพีซประเทศไทย ซึ่งได้เชิญนักวิชาการจากภาคเหนือ ภาคใต้ของประเทศ ทนายความจากมาเลเซีย ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนและนักรณรงค์ของกรีนพีซอินโดนีเซียมาร่วมพูดคุยและส่งสารถึงผู้นำอาเซียนทั้งหลายให้จัดการกับมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับผลกระทบมากมายไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อมลพิษหรือไม่ก็ตาม

             ภายหลังจากที่ฟังเวทีดังกล่าวแล้วก็อดคิดถึงเธอไม่ได้  วันนี้ ฉันจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงเธอ ชาวกรุงเทพที่รัก เพราะ แม้มลพิษข้ามพรมแดนจะเป็นปัญหาของประชาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เป็นปัญหาของคนกรุง เธอตั้งใจอ่านให้ดีๆ นะ ‘ฉัน’จะพยายามเขียนให้สั้น ๆ 

            หากธรรมชาติไร้พรหมแดน มลพิษทางอากาศก็ไร้พรหมแดนเช่นเดียวกัน

             น่าเศร้านิดหน่อยตอนที่ฉันทราบข่าวจากอาจารย์พีระพงษ์ว่า กรุงเทพฯ เองก็อาจไม่ได้เป็นข้อยกเว้นของปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ด้วยความที่กรุงเทพฯ ถูกรายล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ใช้วิธีเผาในที่โล่ง แม้จะเกิดในจังหวัดอื่นๆ มลพิษทางอากาศนั้นก็สามารถลอยข้ามจังหวัดมาได้ ในบางกรณีที่สภาพภูมิอากาศเป็นใจ มลพิษทางอากาศก็สามารถลอยมาจากกัมพูชามาถึงกรุงเทพฯ ได้เหมือนกัน ด้วยความที่กรุงเทพฯ เองก็ปล่อยมลพิษทางอากาศในระดับหนึ่งจากการคมนาคม เมื่อรวมกับมลพิษทางอากาศจากที่อื่น การที่สถานการณ์จะแย่ลงจึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร ดูเหมือนว่าเพลงของพี่เบิร์ด ธงไชยท่อนที่ร้องว่า ‘… ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้…จะไม่ได้เกินความเป็นจริงไปเสียทีเดียวนะ

             ภาระรับผิดและความโปร่งใสที่ขาดหายไป

             ปัญหาเรื่องมลพิษข้ามพรมแดนใช่ว่าจะแก้ไม่ได้หรอก แต่เพราะภาระรับผิด (หรือที่ฝาหรั่งเรียกว่าอะไรนะ .. Accountability ใช่ไหม) มันหายไป เมื่อไม่มีก็แก้ปัญหาไม่ได้แม้จะมีการลงนามเป็นเรื่องเป็นราวแล้วก็ตาม คุณเจีย หยาวอธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลของแต่ละประเทศในอาเซียนควรเปิดทางให้ผู้ได้รับผลกระทบได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คนที่ก่อมลพิษรับผิดชอบ แต่จากที่ฟังจากคุณราตรีดูเหมือนสถานการณ์กลับกลายเป็นว่าผู้นำรัฐบาลต่างโยนความผิดให้แก่กันไปมา รัฐบาลสิงคโปร์กับรัฐบาลมาเลเซียโทษรัฐบาลอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียโทษบริษัทมาเลเซียกับสิงคโปร์ ฟังแล้วเหมือนเล่นลิงชิงบอลกันอย่างไรอย่างนั้น จึงไปต่อไม่ได้เพราะความท้าทายนี้ต้องการปฏิบัติการที่มากไปกว่าการดำเนินไปตามปกติ ปัญหามลพิษทางอากาศที่บ้านเธอแก้ไม่ตกเพราะเหตุนี้ด้วยหรือเปล่า

             เธอเชื่อไหม ทุกวันนี้ ฉัน ไม่รู้เลยว่า ฉันหายใจเอาอะไรเข้าไปอยู่ ไม่มีใครมาบอก ฉัน ว่าอากาศเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ในอากาศที่ ฉัน หายใจอยู่บ้าง จะรู้อีกทีก็ตอนที่มีคนล้มป่วยแล้ว พวกเราไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลย เมื่อล้มป่วยจะเอาผิดกับใครก็ไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ก่อมลพิษ จะทักท้วงกับใครก็ไม่มีใครเขาได้ยินเพราะเสียงของ ฉันมันเบาแสนเบา ช่างเป็นสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจสิ้นดี แต่ขอบใจเธอนะที่อุตส่าห์อ่านถึงบรรทัดนี้ แล้วเธอล่ะ เธออยู่ในเมืองกรุงนี่ น่าจะมีเทคโนโลยีไฮโซโก้หรูกว่าฉันเป็นไหนๆ เธอรู้หรือเปล่าว่าในอากาศที่เธอหายใจมีอะไรอยู่บ้าง 

             ถึงตรงนี้คงจะเข้าใจแล้วสินะว่าเธอและ ‘ฉัน เราต่างประสบวิกฤตมลพิษทางอากาศไม่ต่างกัน แต่ ฉันหวังเหลือเกินว่าเธอจะไม่ต้องเจออะไรแบบที่ ฉันเจอ เรามาต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิที่จะได้เข้าถึงอากาศดีไปด้วยกันนะ

             เอาล่ะ ฉันชักจะบ่นเสียยืดยาวเกินไปแล้ว คงต้องจบจดหมายฉบับนี้แต่เพียงเท่านี้ ฤดูหนาวมาถึงแล้วเธออย่าลืมดูแลตัวเองดีๆ อย่าให้จับไข้ได้ป่วยล่ะ ฉันหวังว่าจะได้รับจดหมายตอบกลับจากเธอเร็วๆ นี้นะ ฉัน จะตั้งตารอ

                                                                                           ขอให้ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าทุกวัน

                                                                                                 ด้วยรักและคิดถึงเสมอ

                                                                                                             ฉันเอง

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม