การกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เป็นหนึ่งในมาตรการหลักที่ประเทศทั่วโลกนำมาใช้ในการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหามลพิษ ในฐานะที่เราทุกคนกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหลายส่วนของประเทศซึ่งกลายเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข (public health emergency)อยู่ในขณะนี้ มีทุกเหตุผลที่จำเป็นต้องพิจารณา ทบทวน และยกระดับมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนลงให้มากที่สุด

Toxic Smog in Bangkok. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ฝุ่นละอองหนาในกรุงเทพมหานคร

บทความนี้จะกล่าวถึงที่มาของมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศที่ประเทศไทยใช้อยู่ และข้อเสนอของกรีนพีซว่าด้วยมาตรฐาน PM2.5 ที่ควรจะเป็น

เรามีมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปมา 9 ปีแล้ว ถึงเวลาเปลี่ยน

ประเทศไทยเริ่มดำเนินการตรวจวัด PM2.5 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา [1] ในปี พ.ศ.2547 กรมควบคุมมลพิษมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาและยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ผู้ศึกษา(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)ได้เสนอแนะมาตรฐานสำหรับค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เนื่องจากเป็นค่าที่ป้องกันผลกระทบสุขภาพได้มากที่สุด และค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน 24 ชั่วโมงไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรโดยไม่มีวันที่มีค่าเฉลี่ย PM2.5 เกินมาตรฐาน [2]

Traffic causing Air Pollution in Bangkok. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

การจราจรเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ

กรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการนำเสนอ(ร่าง) มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ (ambiant air quality standard)ใช้หลักเกณฑ์ ในการกำหนดมาตรฐานโดยพิจารณาจาก
(ก) หลักฐานผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยโดยโครงการจัดทำ(ร่าง)มาตรฐาน PM2.5 โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(ข) การวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศเชิงสถิตจากการตรวจวัด PM2.5 ในบรรยากาศอย่างต่อเนื่องจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพียงจำนวน 3 สถานีในประเทศไทย ขณะนั้น
(ค) การประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านคุณภาพอากาศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(ง) การประเมินทางด้านเศรษฐศาสตร์ในรูปของประโยชน์ที่ได้ร้บจากการลดผลกระทบต่อ
สุขภาพอนามัย(Health benefits) และค่าใช้จ่ายเบื้องต้นโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยที่เกี่ยวข้อง
(จ) การประเมินค่าใช้จ่าย(Cost-analyses) เบื้องต้นในการลดปริมาณ PM2.5 โดยสรุป กรมควบคุมมลพิษเสนอแนะค่ามาตรฐาน PM2.5 ในเวลา 1 ปี ว่าต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย

ท้ายที่สุด ในปี พ.ศ.2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศฉบับที่ 23 กำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 โดยค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมงจะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเป็นค่าที่เราใช้วัดมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน [4]

มาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้เป็นเวลา 9 ปีแล้ว ในขณะที่ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 กลายเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เรามีองค์ความรู้ใหม่ๆ มากขึ้นพอที่จะสรุปได้ว่า PM2.5 เป็นฝุ่นพิษที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ เป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบใดๆ เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) และการที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ในปี พ.ศ.2556 แต่กรมควบคุมมลพิษก็ยังไม่วี่แววที่จะยกร่างมาตรฐานใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการ “ความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง” และ “การลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” แต่อย่างใด

ตารางแสดงการเปรียบเทียบมาตรฐานและ Guideline สำหรับ PM2.5 ของประเทศต่างๆ

ค่ามาตรฐาน PM2.5 (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ย 1 ปี
ไทย 50 25
องค์การอนามัยโลก*– Interim Target (IT-1)

– Interim Target (IT-2)

– Interim Target (IT-3)

– Air Quality Guideline(AQG)

75
50
37.5
25
35
25
15
10
องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา**รัฐแคลิฟอร์เนีย

35

12 (แหล่งกำเนิดขั้นต้น)

15

(แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ)

12

สหภาพยุโรป***
ภายใต้กฎระเบียบ Directive 2008/50/EC สหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายการลดสัมผัส PM2.5 ในกลุ่มประชากรที่เรียกว่า average exposure indicator (AEI)ภายในปี พ.ศ. 2553 และ 2563
25
22(AEI ปีพ.ศ.2553)
18(AEI ปีพ.ศ.2563)
มาเลเซีย****– Interim Target(ปี พ.ศ.2558)

– Interim Target(ปี พ.ศ.2561)

– มาตรฐาน( ปี พ.ศ.2563)

75
50
35
35
25
15
สิงคโปร์*****– ปี พ.ศ.2559

– ปี พ.ศ.2563

– เป้าหมายระยะยาว

40
37.5
25
15
12
10
สหราชอาณาจักร
สก็อตแลนด์

25
12
– แคนาดา

– นิวฟาวด์แลนด์

– เมืองแวนคูเวอร์

30
25
25


12
ออสเตรเลีย 25 8
นิวซีแลนด์ 25
ญี่ปุ่น 35 15
เกาหลีใต้****** 35 15
ฟิลิปปินส์ 50 25

ข้อสังเกตของกรีนพีซต่อการกำหนดมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทย

  • ข้อมูลการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ PM2.5 ในประเทศไทย [5] ซึ่งพิจารณาทั้งค่าเฉลี่ยรายปี ค่าเฉลี่ยสูงสุดรายเดือนและจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานรวมกัน พบว่ามี 9 พื้นที่จากทั้งหมด 14 พื้นที่ มีค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานรายปีของประเทศไทย (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินสถานการณ์คุณภาพอากาศในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่กรมควบคุมมลพิษระบุไว้ในบทที่ 2 ว่า “จากการติดตามตรวจสอบพบว่าปริมาณ PM2.5 ในหลายพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและ มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน”
  • ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของประเทศไทย ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ในพื้นที่เมือง เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับแย่และยังไม่มีเป้าหมายรับมือ
  • ความล้มเหลวในการจัดการ PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้อยู่ในมาตรฐาน จึงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย เมื่อประเมินในกรุงเทพมหานคร ประชาชนต้องเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย(Health benefits) ได้แก่ การลดกระทบต่อสุขภาพ 1.4 ล้านรายต่อปี จำนวนวันที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจลดลง 173 ล้านวัน และคิดเป็นมูลค่าประโยชน์ทางการเงินที่ ได้รับประมาณ 24.9-41.5 หมื่นล้านบาทต่อปี [6]
  • ในรายงาน State of Global Air [7] ระบุว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรใน ประเทศไทยราว 37,500 คน เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จำเป็นต้องมีมาตรฐานที่เข้มงวดซึ่งเป็นค่าที่ป้องกันผลกระทบสุขภาพของประชาชนได้มากที่สุด

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่เจาะจง(specific) วัดได้(measurable) ทำได้(Attainable) สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่(Relevant) โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน(Time-bound) ดังนี้

กรอบเวลา มาตรฐาน PM2.5 (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)สำหรับประเทศไทย
ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ย 1 ปี หมายเหตุ
ปี พ.ศ.2553 50 25 ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่ 36
ปี พ.ศ.2562 35 12 ค่าที่ป้องกันผลกระทบสุขภาพได้มากที่สุดจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำขึ้นในปี 2547
ปี พ.ศ.2573 25 10 ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกและ กรอบเวลาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

ร่วมบอกกรมควบคุมมลพิษให้ยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ได้ที่นี่
ที่มาข้อมูล :
[1] เอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การกําหนด(ร่าง)ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศทั่วไป (กรมควบคุมมลพิษ) https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/03/b53b7ffc-b53b7ffc-draft_std__pm2.5.pdf
[2] เรื่องเพื่อพิจารณากำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป (กรมควบคุมมลพิษ) https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/03/4cea8886-4cea8886-pm2.5_040309.pdf
[3] เอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การกําหนด(ร่าง)ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศทั่วไป (กรมควบคุมมลพิษ) https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/03/b53b7ffc-b53b7ffc-draft_std__pm2.5.pdf
[4] ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 (พ.ศ.2553) เรื่อง การกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป http://infofile.pcd.go.th/law/2_99_air.pdf?CFID=2437604&CFTOKEN=22218289
[5] สถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ใน 14 เมืองของประเทศไทย ปี พ.ศ.2560 http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Urban-Revolution/Air-Pollution/Right-To-Clean-Air/City-ranking/2017/
[6] เรื่องเพื่อพิจารณากำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป (กรมควบคุมมลพิษ) https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/03/4cea8886-4cea8886-pm2.5_040309.pdf
[7] https://www.stateofglobalair.org/data

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม