วันนี้ 7 กันยายน 2564 เป็นปีที่สองที่ประชาคมนานาชาติร่วมรณรงค์เพื่ออากาศดีทั่วโลก โดยใช้หัวข้อว่า “อากาศสะอาด โลกแข็งแรง” – #HealthyAirHealthyPlanet สืบเนื่องจากปี 2563 ที่ผ่านมาสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly-UNGA) กำหนดให้วันนี้ของทุกปีเป็นวันสากลเพื่ออากาศสะอาดสำหรับท้องฟ้าสดใส (the International Day of Clean Air for blue skies) ขณะที่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ (UNEP) มองว่า มาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า เมื่อเราลงมือทำ อากาศสะอาดและท้องฟ้าใสนั้นเป็นไปได้

การรณรงค์ในปี 2564 เน้นให้ความสำคัญเรื่องอากาศสะอาดเพื่อทุกคน (healthy air for all) และโยงไปสู่ประเด็นที่กว้างขึ้นว่าด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สุขภาวะของมนุษย์และโลกของเรา รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยถือเป็นการเรียกร้องเพื่อ #ขออากาศดีคืนมา #RightToCleanAir

ฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่ © Vincenzo Floramo / Greenpeace
บรรยากาศของเชียงใหม่ ในวันที่ 23 มีนาคม ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่า 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร © Vincenzo Floramo / Greenpeace

นอกจากเป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ มลพิษทางอากาศยังส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มลพิษทางอากาศที่มีช่วงชีวิตสั้น (Short-lived Climate Pollutants) เช่น เขม่า (black carbon) ก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศ (tropospheric ozone) และก๊าซมีเทน (methane) เป็นต้น การลดมลพิษทางอากาศดังกล่าวนี้ลงจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดการสูญเสียผลผลิตการเกษตร และลดผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

และต่อไปนี้คือสิ่งที่รัฐบาลไทยมอบให้ประชาชนในวันอากาศสะอาดสากล

ปัดตกร่างกฎหมาย

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 วรรคสอง ในกรณีที่ร่างกฎหมายที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเป็นร่าง กฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ด้วย “อำนาจพิเศษ” นี้ ทำให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ 3 ฉบับ ถูกปัดตกจากนายกรัฐมนตรี

  • ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ….  เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย เมื่อ 9 กรกฎาคม 2563
  • ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….  ที่ร่างโดยหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและเครือข่ายภาคประชาสังคม มีการรวบรวมรายชื่อกว่า 12,000 คน ส่งมอบต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563
  • ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …ที่เสนอโดยโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลเมื่อเดือนมกราคม 2564

ยังเหลือเพียง ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….  ริเริ่มโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งมีการรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ถึง 10,000 รายชื่อ อยู่ในขณะนี้

เพิกเฉยมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่

สิบปีผ่านไปแล้ว แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง ยังไม่ได้ทำอะไรเลยกับ “มาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศ” ที่ใช้กันอยู่

ใน พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 32 (4) ให้ กก.วล. มีอำนาจกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปและมาตรา 34 ให้ กก.วล. มีอำนาจปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้แล้วให้เหมาะสมโดยอาศัยหลักวิชาการ กฎเกณฑ์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานและความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

การประท้วงเรื่องมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, เมล์เดย์, Climate Strike Thailand และภาคประชาชน ร่วมยื่นแถลงการณ์ “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” ถึงนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือจัดการกับปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังและเร่งด่วน © Wason Wanichakorn / Greenpeace

แม้จะมีสัญญานที่ดีจากการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ผ่าน Video Conference ระบบ Zoom) เรื่อง “การปรับปรุงมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศ” ซึ่งจัดในวันที่ 14 มกราคม 2564 โดยกรมควบคุมมลพิษซึ่งพิจารณาและมีความเห็นให้ปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ โดยเปลี่ยนค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จากเดิม  50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร”  และค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร”

แต่ในวันอากาศดีสากล เรายังไม่เห็นความเคลื่อนไหวใด ๆ ในเรื่องนี้จากผู้มีอำนาจ

คนไทยสูดฝุ่น PM 2.5 โดยเฉลี่ยต่อปีมากเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ WHO

เมื่อพิจารณาจาก รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลกปี 2561, ปี 2562 และปี 2563 คนไทยรับสัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่มีความเข้มข้นระหว่าง 21.4-26.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรโดยเฉลี่ยต่อปี หรือมากกว่า 2 เท่าของข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร [3]

อากาศแย่ติดอันดับต้นๆ ของโลก

ในช่วง 2-3 เดือนของทุกปี เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวฮิบฮิบทางภาคเหนือของไทย กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มลพิษทางอากาศของเชียงใหม่  และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาจากแหล่งกำเนิดหลักคือ ไฟป่าในเขตอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ การเผาจากการเกษตรเชิงเดี่ยว และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ประชาชนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 บริเวณประตูท่าแพในวันที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 อยู่ในระดับมากกว่า 300 ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ. © Vincenzo Floramo / Greenpeace
เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่คนเชียงใหม่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน © Vincenzo Floramo / Greenpeace

กรณีศึกษาฝุ่น PM2.5 ที่เชียงใหม่

การประมวลผลข้อมูลล่าสุดโดย IQAir พบว่า ในช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน (2564) เดือนที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดของเชียงใหม่คือ เดือนมีนาคม โดยฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยสูงเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และเมษายน

กราฟความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 (1)
แผนภาพ 1 : ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยรายเดือนและรายปี จัดแบ่งสีตามเกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (ที่มา : IQAir)

จากแผนภาพ 1 แม้ว่าปี 2563 จะมีฝุ่น PM2.5 แย่ที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงต้นปี 2564 นี้ เชียงใหม่ก็ยังคงประสบกับฝุ่น PM2.5 ที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายเดือนสูงมากเมื่อเทียบกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (มกราคม : 42.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร / กุมภาพันธ์ : 47.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร / มีนาคม : 83.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

กราฟความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 (2)
แผนภาพ 2 ความเข้มข้นเฉลี่ยรายชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 ในเดือนมกราคม-มีนาคม ของปี 2560, 2561, 2562, 2563, และ 2564 จัดแบ่งสีตามเกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศ ขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (ที่มา : IQAir)

จากแผนภาพ 2 เมื่อพิจารณาสัดส่วนของค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 รายชั่วโมงในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ในปี 2564 เชียงใหม่มีอากาศดี (ความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยต่ำกว่า 12 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ตามดัชนีคุณภาพอากาศของ USEPA) อยู่เพียง 1.5 %

กราฟความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เชียงใหม่ (3)
แผนภาพ 3 : ค่าฝุ่น PM2.5 รายวันในเชียงใหม่ระหว่างปี 2560-2564 จัดแบ่งสีตามเกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (ที่มา : IQAir)

ในแผนภาพ 3 บ่งชี้ว่า ฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่มาเร็วขึ้นและอยู่นานขึ้นอันเป็นผลมาจากปัจจัยสองประการคือ Zero Burn ซึ่งเป็นมาตรการของรัฐ และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

แม้ประเทศไทยในฐานะประชาคมโลกจะตระหนักถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย โดยมุ่งลดจำนวนผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศ และใช้ตัวชี้วัดว่ามีประชากรในเขตเมืองที่ได้รับมลพิษทางอากาศกลางแจ้งรวมถึงฝุ่น PM 2.5 เกินข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกมากน้อยเพียงใด 

แต่ตราบเท่าที่สิทธิในการหายใจของคนไทยยังถูกละเมิด เราไม่อาจบรรลุเป้าหมายนี้ได้เลย

ที่มาข้อมูล :

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม