ในปัจจุบันนี้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ได้อธิบายไว้ทั้งหมดแล้วว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง และตอนนี้ก็กำลังรุนแรงขึ้น ดังนั้น การลงมือทำเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็น นั่นคือเราจะต้องปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรากำลังย้ำประเด็นนี้กับผู้ก่อมลพิษและใครก็ตามที่ยังเพิกเฉยที่มัวแต่คิดว่าเงินในกระเป๋าของตัวเองจะทำให้พวกเขารอดพ้นหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เราไม่มีเวลาแล้วและเราจะต้องปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทันที!

นักกิจกรรมกรีนพีซเข้าร่วมกิจกรรมประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศในปี 2564 ที่เบอร์ลิน © Mike Schmidt / Greenpeace

ในตอนนี้สิ่งที่คั่นอยู่ตรงกลางระหว่างเรากับการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เราต้องการก็คือ บรรษัทอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ก่อมลพิษ พวกเขาเห็นแก่กำไรมากกว่าการทำให้โลกปลอดภัย และยังสนับสนุนผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชน ตลอดเวลา 50 ปีของกรีนพีซ เราเชื่อในพลังของมวลชนและเราทุกคนจะร่วมมือกันปกป้องสิ่งแวดล้อม การร่วมมือกันปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับความร่วมมือทั่วโลกนี้ เราจะต้องทำทุกอย่างให้เร็วขึ้น เข้มข้นขึ้นในทุกระดับ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

ต่อไปนี้คือ 6 ข้อที่เราสามารถลงมือทำเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยจะต้องช่วยกันกระจายและส่งต่อเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย เป็นธรรม และยั่งยืนสำหรับทุกคน

1.หยุดการลงทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล

ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น จะต้องไม่มีการลงทุนในภาคพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการคงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ทางออกด้านพลังงานจะต้องมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

หยุดโครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซทุกแห่ง ก่อนหน้านี้ชนพื้นเมืองได้ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านของพวกเขาจากโครงการท่อส่งน้ำมัน ไม่เพียงแต่การรับรองถึงสิทธิในผืนดินของชาวพื้นเมือง เราจะต้องยืนเคียงข้างกับทุกๆ ชุมชนที่ถูกคุกคามจากจากความละโมบของบรรษัทน้ำมัน

นักกิจกรรมเดินรณรงค์บนถนนในกรุงวอชิงตัน ดีซีเพื่อคัดค้านโครงการท่อส่งน้ำมัน พวกเขาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยุติโครงการท่อส่งน้ำมัน © Tim Aubry / Greenpeace

2.แผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำได้จริง

มุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC สรุปอย่างชัดเจนในรายงาน 1.5 องศาเซลเซียส ว่า เราจะต้องมีเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจน เช่น ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพและมีส่วนรับผิดชอบจะต้องเป็นผู้นำในการบรรลุเป้าหมายนี้และจะต้องสนับสนุนประเทศอื่นๆในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

นอกจากนี้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องทำให้แผนและเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดคล้องกับเป้าหมายอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.5 องศาเซลเซียสในการประชุม COP26 หากเรายังคงทำตามนโยบายเดิมที่มีอยู่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น 2.9 องศาเซลเซียสในอนาคตและนั่นหมายถึงวิกฤต ดังนั้นเราต้องการเป้าหมายและคำมั่นสัญญาของรัฐบาลแต่ละประเทศในการประชุมที่จะเกิดขึ้นที่กลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ไม่เพียงแค่ภาครัฐแต่สถาบันการเงินก็ต้องปฏิบัติตามเป้าหมายของความตกลงปารีสด้วย การหยุดสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลคือทางออก เพราะไม่มีทางที่เราจะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้เลยถ้าหากภาคพลังงานนี้ยังได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอยู่ การที่ภาคการเงินถอยห่างออกจากอุตสาหกรรมดังกล่าวคือกุญแจสำคัญในการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทั่วโลกปล่อยออกมาในปริมาณสูงและยังเป็นไปตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสอีกด้วย จะต้องไม่มีการฟอกเขียวและคำสัญญาที่เป็นแค่ลมปากอีกต่อไป

3.ปฏิวัติระบบอาหาร

เพราะการผลิตอาหารในเชิงอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นการผลิตน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์นม กำลังทำลายผืนป่าและระบบนิเวศในป่าเหล่านั้น เราจะต้องหยุดการทำลายผืนป่า ทดแทนด้วยการปล่อยให้ป่าและระบบนิเวศฟื้นฟูตัวเอง นอกจากนี้จะต้องนำเอาหลักนิเวศเกษตรมาปรับใช้กับการผลิตอาหารควบคู่ไปกับการลดการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์ หันมากินอาหารจากพืชผักท้องถิ่นมากขึ้น

กรีนพีซ โรมาเนียร่วมเป็นเจ้าภาพกับองค์กรไม่แสวงหากำไรในงาน the European Mobility สัปดาห์นักปั่นครั้งที่ 16 –  ‘เราต้องการเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คน’ ที่เมือง Bucharest © George Topoleanu / Greenpeace

4. พัฒนาการเดินทางในเมือง

หากเราจะจริงจังกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว เราจะต้องปรับเปลี่ยนการคิดที่มุ่งเน้นไปที่คนมากขึ้น ในบางเมืองบางประเทศมีการกำหนดให้มีเขตพื้นที่ปลอดรถยนต์ด้วย นั่นหมายความว่าจะมีพื้นที่รถยนต์น้อยลงแต่พื้นที่ของผู้คนมากขึ้น นั่นเพราะการอาศัยอยู่ในเมืองไม่ได้หมายความว่าจะเข้าไม่ถึงพื้นที่สีเขียวและธรรมชาติน้อยลง

รู้จัก 11 เมืองที่นักวางผังเมืองและนักการเมืองวางแผนได้ดี โดยโครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยรักษาชีวิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังช่วยปรับปรุงพัฒนาการเดินทางของผู้คนนับล้านให้ดีขึ้นอีกด้วย

5. ปกป้องระบบนิเวศมหาสมุทร

ผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อมหาสมุทรนั้น มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพและการดำรงอยู่ของมนุษยชาติอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องการการตอบรับทางการเมืองทั่วโลกอย่างเร่งด่วน ในรายงานล่าสุดของกรีนพีซสากล ปรากฏการณ์น้ำทะเลอุณหภูมิสูง:  วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเร่งด่วนเพื่อปกป้องมหาสมุทร  ระบุชัดเจนว่า การที่อุณหภูมิน้ำทะเลผิดปกตินั้นเกิดจากการเร่งนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้อย่างรวดเร็วและมากเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างระบบนิเวศ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เพิ่มระดับสูงขึ้น น้ำทะเลเป็นกรด และออกซิเจนในน้ำทะเลลดลง

แต่ตอนนี้ เรามีโอกาสช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมหาสมุทรแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลกร่วมกับกรีนพีซ ได้จัดทำแผนการปกป้องมหาสมุทรของเราขึ้น และดำเนินการผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล  ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ทั่วทุกมุมโลก โดยจะมีการวางอาณาเขตหลายล้านตารางกิโลเมตร เพื่อจำกัดการทำประมงแบบทำลายล้าง การทำเหมืองแร่ในทะเลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ทำลายระบบนิเวศในมหาสมุทร

ร่วมแสดงพลังในการผลักดัน เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก เพื่อฟื้นฟูมหาสมุทรให้อุดมสมบูรณ์ และจำกัดการเข้าถึงของอุตสาหกรรมที่ทำลายระบบนิเวศในทะเลและมหาสมุทรโลกร่วมกัน

ภาพมุมสูงของแม่น้ำ  Monboyo และป่าพรุในอุทยานแห่งชาติ Salonga mk’ตะวันออกเฉียงใต้ของ Mbandaka คองโก © Daniel Beltrá / Greenpeace

 6.ฟังเสียงและยืนหยัดเคียงข้างชนพื้นเมือง

ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อสุขภาพของระบบนิเวศ แต่ตอนนี้ สิทธิชีวิตและที่ดินของชนพื้นเมืองทั่วโลกกำลังถูกคุกคาม

เพื่อฟื้นฟูความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสนใจองค์ความรู้ของชุมชนที่ทำงานร่วมกับธรรมชาติผู้ให้กำเนิดมาอย่างลึกซึ้งหลายชั่วอายุคน ต้องตระหนักถึงและเคารพสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น โดยทำงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาระบบจัดการน้ำ เปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบอาหารให้เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้จะต้องนำเอาหลักการ ‘ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย’ มาเป็นหลักในการปรับใช้และชดเชยแต่ละประเทศ

นักกิจกรรมกรีนพีซ บราซิลเข้าร่วมกับชนพื้นเมือง Munduruku เพื่อคัดค้านแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของรัฐบาลบราซิล ในแม่น้ำ Tapajós ซึ่งเป็นหัวใจของป่าแอมะซอนในบราซิล กลุ่มนักกิจกรรมและเครือข่ายกางแบนเนอร์ขนาด 20 x 30 เมตรที่มีข้อความให้หยุดโครงการเขื่อน ภาพนี้ถ่ายในพื้นที่ของชนพื้นเมือง Sawré Muybu เขต Itaituba เมือง Pará ในบราซิล © Rogério Assis / Greenpeace

เราต้องร่วมมือกัน เพราะปัจจุบันคนที่ก่อมลพิษน้อยที่สุดกลับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยจะต้องให้คำมั่นสัญญาในความตกลงปารีสเกี่ยวกับการเงินว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ และใส่ใจกับผลกระทบและการสูญเสียที่เกิดขึ้น ยังไม่มีอะไรสายเกินไปเพียงแต่เราจะต้องลงมือทำตอนนี้

ฟังดูเหมือนเราจะต้องทำอะไรหลายอย่างเลยใช่ไหมล่ะ แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะเราทำได้ และควรเปลี่ยนแปลงมันด้วยกัน!

เพียงแค่ย้อนกลับมามองความเป็นจริงที่ว่า การปกป้องผู้คนและสิ่งแวดล้อมจะช่วยประหยัดเงิน เวลา และยังปกป้องโลกที่เป็นบ้านหลังใหญ่ของเรามากกว่าเมื่อเทียบกับการเพิกเฉยหรือแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ประจวบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก เปิดเผยปัญหาหลากหลายที่เคยถูกซุกไว้ใต้พรมมาตลอด ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องฟื้นฟูโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมกลับมาด้วยแนวทางที่ ‘กรีน’ และยั่งยืนจริงๆมากขึ้น


บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถดูบทความต้นฉบับได้ที่นี่

เกี่ยวกับผู้เขียน – คริส กรีนเบิร์ก บรรณาธิการ กรีนพีซ สากล ประจำในบรู๊กลินน์ นิวยอร์ก

Solar Rooftop at Luang Suan Hospital in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet
พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน

ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม