ปัญหามลพิษ ฝุ่นละออง สารเคมีรั่วไหลเป็นปัญหาเรื้อรังในไทยมาหลายปี ชี้ถึงความจำเป็นของการใช้กฎหมายการปลดปล่อยหรือเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) นี่จึงนำมาสู่งานเสวนา ‘สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องมีกฎหมาย PRTR’ จัดโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) วันที่ 23 มกราคม 2567 โดยได้มีการสนทนาถึงปัญหาการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และแนวทางแก้ปัญหาผ่านกฎหมาย PRTR จากหลากหลายมุมมอง

เปรมิกา บูลกุล ผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยหมิงตี้เคมีคอล เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวกับเหตุระเบิดโรงงานหมิงตี้ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ช่วงเข้าไปตกแต่งบ้านใหม่เมื่อปี 2564 ว่า “ตอนนั้นตกใจมาก เพราะเสียงดังลั่นไปหมดเลย เสียงกระจกแตก ประตูบ้านทั้งสองบานหายไปหมดเลย เราก็มองบ้านละแวกเดียวกัน ไม่เหลือประตูบ้านเลย เราได้ยินเสียงตู้มแต่เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร” เปรมิกากล่าว

ช่วงที่กลับไปดูบ้านสัปดาห์หลังเหตุการณ์โรงงานระเบิด เปรมิกามีอาการผื่นขึ้น และน้ำตาไหลแสบจมูกแม้จะใส่หน้ากากอยู่ “แฟนสุขภาพจิตเสียไปเลย มีความกังวล เขารู้สึกว่าเขาไม่ปลอดภัยเลย ร่ำๆ ว่าไม่อยากอยู่แล้ว อยากจะย้าย” แต่ด้วยความที่บ้านยังใหม่ และทุกคนก็ทราบถึงข่าวระเบิด ทำให้เปรมิกายังคงไม่สามารถขยับย้ายที่อยู่ และยังต้องเป็นเพื่อนบ้านกับหมิงตี้จนถึงตอนนี้

“อย่างประเด็นที่คุณเปรมิกาพูด เป็นเรื่องที่เกือบจะเกิดขึ้นปีละหลายครั้งในประเทศไทย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว

เพ็ญโฉมเล่าว่ากฎหมาย PRTR เกิดขึ้นจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมสารเคมีปี 2513 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลมลพิษต่อสาธารณะ 

นำไปสู่กฎหมาย TRI หรือ Toxic Release Inventory กำหนดให้โรงงานขนาดใหญ่ต้องรายงานการปล่อยมลพิษ กฎหมายนี้ถือเป็นต้นแบบกฎหมาย PRTR ทั่วโลกต่อมา

เพ็ญโฉมขยายความถึงข้อดีของกฎหมาย PRTR ออกมาได้ 3 ข้อ ว่าด้วยการที่ประชาชนทั่วไปจะได้มีส่วนร่วมในกฎหมายนี้ การเปิดเผยรายงานข้อมูลสู่สาธารณะชนที่เข้าถึงได้ และการทำให้การจัดการเรื่องกระบวนการยุติธรรม การเฝ้าระวังชุมชน หรือผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น เพ็ญโฉมฟังบรรยายของเทศบาลเมืองโยไคอิจิว่าแก้ปัญหามลพิษเมืองนี้อย่างไร “ทำไมโรงงานใหญ่บ้านเขาเหมือนมาบตาพุดแต่ทะเลสะอาด เขาบรรยายอย่างเดียวเลยว่าเขาใช้ PRTR ตรวจสอบและติดตามการปล่อยมลพิษของแต่ละโรงงานได้ 

กฎหมายบ้านเขาคุมการปล่อยสารเคมีถึงสามร้อยกว่าตัว ค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศบ้านเรามีแค่สิบห้าตัว สิ่งนี้ยกระดับการจัดการมลพิษเข้าสู่มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศไ้ด้ ทำให้อากาศบ้านเขาหายใจได้สบายปอด” เพ็ญโฉมเล่า

อีกตัวอย่างคือนครปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อ 10 ปีที่แล้วค่าฝุ่น PM2.5 สูงมาก จีนจึงออก Blue Sky Roadmap นแต่ละโรงงานจะต้องรายงานว่าใช้เชื้อเพลิงอะไร ปล่อยมลพิษอะไรออกมาบ้าง จีนเน้นเรื่องการเปิดข้อมูลเหล่านี้สู่สาธารณะ ใช้หัวใจของกฎหมาย PRTR จีนเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งข้อมูลว่ามีใครปล่อยมลพิษบ้าง จีนจึงแก้ปัญหาฝุ่น PMm2.5 ได้อย่างเด็ดขาด

สำหรับประเทศไทย เพ็ญโฉมอธิบายว่า กฎหมาย PRTR อยู่ในช่วงดำเนินการ แม้จะมีฉบับนำร่องตัวร่างที่ใช้อยู่ก็เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของกฎหมาย PRTR ฉบับเต็ม ที่มีการบังคับใช้เพียงในบางพื้นที่ และแปะป้ายเป็น “eco-industry” ที่ยังมีความไม่เท่าเทียมเต็มไปหมด

“มีความพยายามที่จะทำโครงการ (PRTR) นำร่องที่ระยอง แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะในครั้งนั้นต้องยอมรับว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม” เพ็ญโฉมกล่าว

ด้านสมพร เพ็งค่ำเปิดประเด็นเรื่อง ‘สิทธิ’ ว่ากฎหมายหลายฉบับรับรองเรื่องสิทธิ การอยู่ในสภาพแวดล้อมสุขภาพดี แต่ยังถูกละเมิดบ่อย ๆ 

“เราไม่เคยรู้เลยว่ากิจการต่าง ๆ มีสารเคมีอะไรบ้างที่อันตราย ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมอย่างไร กระทบชีวิต กระทบห่วงโซ่อาหารเราอย่างไร” สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชน พูดถึงกฎหมาย PRTR ในมุมมองว่าประชาชนเป็นผู้ ‘ตั้งรับ’ ปัญหามาตลอด รวมถึงหน่วยงานราชการก็เช่นกัน

โดยสมพร ผู้เคยทำงานสายสุขภาพเล่าว่า “กรณีที่มาบตาพุด กระทรวงสาธารณสุขเข้าถึงข้อมูลน้อยมาก เกิดแก๊ซรั่ว โรงงานระเบิดก็ไม่ได้รับแจ้งเลยว่าเป็นสารเคมีอะไร หมอต้องเดาเองว่าวิ่งมาจากทางไหน โรงงานน่าจะมีสารอะไรอยู่ และให้ยาแก้พิษไปก่อน”

สมพรชี้ให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ทุกหน่วยงานเข้าถึงข้อมูลนี้ ใช้ข้อมูลนี้วางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยสมพรอธิบายว่ากฎหมาย PRTR ก็คือ “การรู้เท่ากัน ทำให้อำนาจจะถูกเปลี่ยนจากผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็น active citizen ที่รู้เท่าทันมลพิษสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมเรื่องปกป้องสิทธิได้อย่างดี”

Dr. Georgina Lloyd ผู้ประสานงานระดับภูมิภาค ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแล UNEP Asia Pacific เล่าว่า “เรากำลังเห็นการพัฒนาของกฎหมาย PRTR ทั่วโลก โดยมีแล้วอย่างน้อย 30 ประเทศ” เป็นการสนับสนุนวิสัยทัศน์ของสหประชาชาติที่มองว่าสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

โดยคุณ Lloyd พูดเสริมอีก 3 เหตุผล ทำไมกฎหมาย PRTR เป็นเรื่องสำคัญและควรได้รับการสนับสนุน

  1. มลภาวะคร่าชีวิตกว่า 9 ล้านคนทั่วโลก สร้างความเสียหายทางธุรกิจระดับพันล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยสหประชาชาติได้วิเคราะห์ว่า หากประเทศไทยสามารถควบคุมมลพิษทางอากาศได้ภายในปี 2573 จะช่วงป้องกันกว่า 17,000 ชีวิต และหากไม่ควบคุมมลพิษ ไทยจะเสียเงิน 12.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
  2. มลพิษคือหัวใจของความอยุติธรรม ยิ่งชุมชนเปราะบางหรือชุมชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจน้อยกว่า ยิ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากโดนปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้
  3. การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นพื้นฐานของกฎหมาย โดยในปี 2566 สหประชาชาติได้ผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลมลพิษต่อสาธารณะในกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าเป็นกฎหมายที่สามารถทำได้จริง สนับสนุนความโปร่งใส และปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน

“และนี่คือเหตุผลที่การปฏิรูปกฎหมายให้เปิดเผยข้อมูลมลพิษจึงสำคัญอย่างยิ่ง” Lloyd กล่าว “กฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่สำหรับวันนี้ แต่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนด้วย เราต้องมั่นใจว่ากรอบกฎหมายสิ่งแวดล้อมนั้นสมบูรณ์ ด้วยหลักการสำคัญที่ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ”

สถานการณ์ปัจจุบันของการเสนอร่างพ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทยรวมรายชื่อได้หมื่นรายชื่อเศษๆ แล้ว พร้อมส่งให้สภาผู้เทนราษฎรในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ โดยเพ็ญโฉมอธิบายเพิ่มเติมถึงแผนการขอเข้าพบพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้ทำความเข้าใจกฎหมายนี้ เพื่อเดินหน้าร่วมกันเพื่อผลักดันต่อไปในสภา 

“อยากให้ทุกคนเปลี่ยนวิธีคิด เรื่องนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าความมั่นคงของประเทศ กฎหมาย PRTR นี้ไม่ได้ขัดขวางการลงทุน แต่พูดถึงการลงทุนแบบที่มีความรับผิดชอบ แต่ก่อนเมื่อมีการมีการปล่อยมลพิษลงน้ำลงอากาศ รัฐผลักความเสี่ยงสู่สาธารณะ มีนโยบายตั้งศูนย์ล้างไตเทียมทุกอำเภอ ผลักภาระให้ประชาชนแบกรับค่าใช้จ่าย คนจนต้องตายไป”  สมพร เพ็งค่ำ กล่าว “เศรษฐกิจ ถ้าจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อมต้องดีและคนต้องมีความสุข PRTR สามารถแก้ปัญหานี้ได้”

เปรมิกา บูลกุล เล่าว่า “ในกรณีหมิงตี้เราอาจจะไม่รู้และไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรเลย ตอนนี้เราเรียนรู้แล้วและเราไม่ต้องการเรียนรู้อีกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในปลายทาง” 

“ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอาจลืมไปว่าตัวท่านเองก็เป็นหนึ่งในประชาชนคนหนึ่งที่มีโอกาสได้รับผลกระทบ ถ้าเกิดผู้มีอำนาจเห็นว่าท่านเป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนนกับพวกเรา ท่านก็คงจะตระหนักรู้ว่าพวกเราควรมีสิทธิที่จะรับทราบข้อมูลตรงนี้ทั้งหมด” เปรมิกากล่าว

“สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ไม่อยากให้ PRTR กลายร่างไปจากหัวใจสำคัญที่มันถือกำเนิดขึ้นมา คือเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด ประชาชนต้องเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม กฎหมาย PRTR คืออะไร https://www.greenpeace.org/thailand/climate-airpollution-thaiprtr/