วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ปกคลุมเมืองหลวงของประเทศมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้คนสงสัยว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 มันมาจากไหนกันและทำไมถึงไม่ยอมหายไปสักที

แหล่งกำเนิด PM2.5 มีทั้งแบบปล่อยโดยตรงกับแหล่งกำเนิดปฐมภูมิ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่งและอุตสาหกรรมการผลิต ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ใดมีแหล่งกำเนิดแบบใดเป็นหลัก(Primary PM2.5 และจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศโดยมีสารกลุ่มซัลเฟอร์หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น(Secondary PM2.5) ดังนั้น การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลและการผลิตทางอุตสาหกรรม เมื่อเกิดการรวมตัวกันในบรรยากาศจะมีผลต่อการก่อตัวของ PM2.5 ขั้นทุติยภูมิอีกด้วย

หลายคนมักจะพูดถึงการเผาในที่โล่งว่าเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ในช่วงระยะเวลานี้ แต่จากข้อมูลดาวเทียม จุดเกิดความร้อนที่เกิดขึ้นในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาในเขตประเทศไทยมีน้อยมาก ดังนั้น PM2.5 จากการเผาในที่โล่งนั้นจึงไม่ใช่ปัจจัยหลัก เราไม่ควรโยนความผิดให้เกษตรกรที่มักถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุ

แผนที่แสดงจุดความร้อนสะสมย้อนหลัง 24 ชั่วโมง (10-11 กุมภาพันธ์ 2561)
ที่แปลผลจากภาพถ่ายดาวเทียม(http://fire.gistda.or.th)

ดังนั้น ในช่วงนี้ ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่คุกคามสุขภาพของคนกรุงเทพฯ ก็ต้องมุ่งตรงไปที่แหล่งกำเนิดจากการคมนาคมขนส่ง(ให้นึกภาพถึงรถยนต์ส่วนตัวนับล้านคันบนถนน) และการเคลื่อนตัวของมลพิษจากพื้นที่อื่นๆ เช่น ผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem) ซึ่งระบุว่า….”โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีและเก็คโค-วัน ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงอย่างเกาะเสม็ด เกาะแสมสารและพัทยา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน เมื่อลมพัดจากทางทิศใต้มายังทิศตะวันตกเฉียงใต้(ดูภาพแรกแสดงทิศทางของกระแสลม) และในช่วงสภาวะอากาศที่แย่ที่สุด ในแต่ละวันฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่งสามารถแพร่ กระจายเข้าสู่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในสัดส่วนร้อยละ 40 และในเขตกรุงเทพมหานครร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปี”

สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “กรุงเทพมหานครช่วงที่ผ่านมามีสภาพอากาศนิ่ง การฟุ้งกระจายในแนวราบไม่ระบาย มีลมสงบความเร็วลมต่ำ และการฟุ้งกระจายในแนวดิ่งมีน้อย หรืออีกนัยหนึ่ง การเกิดมีสภาพอากาศเย็นหรืออุณภูมิต่ำที่พื้นดินรวมทั้งมีละอองน้ำหรือหมอกปกคลุมเหนือพื้นดินจำนวนมาก แต่ที่ระดับความสูงขึ้นไปอากาศกลับมีอุณภูมิสูงขึ้นเนื่องจากความร้อนจากดวงอาทิตย์ จึงทำให้มลพิษที่พื้นดิน เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก สารเบนซิน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์  เป็นต้น ที่ออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ซึ่งมีความร้อนมากกว่าอากาศโดยรอบจะเคลื่อนที่ลอยขึ้น(จากร้อนไปเย็น) ในระดับหนึ่งแล้วลอยต่อไปไม่ได้เนื่องจากไปปะทะละอองน้ำและความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่อุณหภูมิสูงกว่าจึงตกลงมาปกคลุมพื้นที่ใกล้เคียงทำให้มีค่ามลพิษเกินมาตรฐานบริเวณริมถนนซึ่งเปรียบเสมือนเอาฝาชีทึบครอบอาหารร้อนๆไว้ ความร้อนก็จะกระจายอยู่ในฝาชีนั่นเอง”

กรุงเทพเป็นพื้นที่ราบ อิทธิพลของลมมรสุมช่วยกระจายให้ฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ เคลื่อนตัวออกไปได้ง่าย แต่เมื่อพิจารณาถึงคุณลักษณะที่สำคัญของมลพิษทางอากาศ PM2.5 ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายจากแหล่งกำเนิดไปในระยะไกลนับร้อยนับพันกิโลเมตรได้ แหล่งกำเนิด PM2.5 ขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน การผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น จึงมีส่วนสำคัญและส่งผลต่อคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครภายใต้สภาวะทางอุตุนิยมวิทยา(ลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น) และช่วงเวลาที่เหมาะสม

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม