แม้ว่าในปี 2566 นี้จะเริ่มต้นด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ทุเลาลงและผู้คนได้กลับมาใช้ชีวิตที่เกือบจะเหมือนเดิมอีกครั้ง แต่ทั้งไทยและทั่วโลกยังคงต้องจับตาวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์การคัดค้านและเรียกร้องให้กลุ่มบรรษัทผู้ก่อมลพิษหลัก ต้องหยุด การฟอกเขียว และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นทาง รวมทั้งต้องจ่ายค่าความสูญเสียและเสียหายต่อกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
ครึ่งปีแรกนี้เป็นปีที่คนไทยต้องเจอกับภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตฝุ่นพิษในภาคเหนือตอนบน เชื่อมโยงกับปรากฎการณ์เอลนีโญ่และกระทบต่อสุขภาพ นำไปสู่การฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้นำนโยบาย มาตรการและแผนที่มีมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ชาวปราจีนบุรีและพื้นที่โดยรอบต้องเสี่ยงภัยด้านรังสีในกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ซึ่งสูญหายจากโรงไฟฟ้า จ. ปราจีนบุรี อีกด้วย ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความปลอดภัย ความรัดกุมในการจัดการของโรงงาน
ส่วนสถานการณ์โลกที่น่าจับตาก็คือ หลังการเจรจาอันแสนยาวนาน รัฐบาลทั่วโลกก็ตกลงร่วมลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) ความท้าทายต่อไปคืออุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลลึกที่จะลงไปแสวงหาทรัพยากรที่ก้นมหาสมุทร
เรียกได้ว่าในระยะเวลาเพียง 6 เดือนที่ผ่านมาก็มีเรื่องราวที่น่าติดตามมากมาย มาสำรวจรายละเอียดสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยและสิ่งแวดล้อมโลกในครึ่งปีแรก 2566 กันเลย
ทั่วโลกเจอเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วตั้งแต่ต้นปี ตั้งแต่ยุโรปมาจนถึงเอเชีย
ในปีนี้ สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายที่เรียกว่า บอมบ์ ไซโคลน (Bomb Cyclone) รวมถึงในยุโรปที่แม้ว่าช่วงต้นปีจะเป็นช่วงเวลาฤดูหนาวแต่กลับต้องเจอคลื่นความร้อน โดยเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก เบลารุส ลัทเวีย และลิธัวเนีย บันทึกว่าช่วงเวลาปีใหม่ที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก
ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ข้อมูลที่ระบุว่าเหล่าสัตว์ป่ารับรู้ถึงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลจนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก และยังมีข้อมูลศักยภาพของป่าแอมะซอนกับการกักเก็บคาร์บอนได้น้อยลงเนื่องจากการทำลายผืนป่าเป็นบริเวณกว้าง วิกฤตสภาพภูมิอากาศนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซึ่งทวีความรุนแรงและจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต
กลับมาที่ภูมิภาคเอเชียก็เจอผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่น้อย เพราะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เอเชียตะวันออก ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน กำลังเผชิญสภาพอากาศหนาวสุดขั้วด้วยอุณหภูมิติดลบ และหิมะที่ตกหนักจนส่งผลกระทบต่อการขนส่งในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการสูญเสียชีวิต โดยเมื่อ 24 มกราคม 2566 เขตชายแดนเกาหลีใต้วัดอุณหภูมิได้ถึง -33 องศาเซลเซียส ในขณะที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนวัดอุณหภูมิได้ถึง -53 องศาเซลเซียส
ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เหตุการณ์สภาพอากาศหนาวสุดขั้วแบบนี้เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าโลกของเรากำลังอยู่ในวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงถึงตายได้
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน (Heat wave) โดยจะเห็นได้จากคลื่นความร้อนที่กระทบกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่จัดขึ้นที่โตเกียวเมื่อปี 2021
เรื่องมันส์ๆ ของกลุ่มคัดค้านน้ำมันและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ในปี 2566 นี้เป็นปีที่ทั่วโลกส่งเสียงคัดค้านทั้งโครงการเหมืองถ่านหิน โครงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ โดยกลุ่มบรรษัทข้ามชาติ ประชาชนคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงเสียงของตัวเองร่วมกับภาคประชาสังคมทั้งบนท้องถนนและบริเวณที่โครงการเหล่านี้จะเกิดขึ้น อย่างเช่นการประท้วง แผนการขยายเหมืองถ่านหิน การ์ซไฟเลอร์ ในลูทเซรัท เยอรมนี ที่ประชาชนร่วมกับนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมราวพันคนเดินทางยังหมู่บ้านลูทเซรัทของเยอรมนี แสดงเจตจำนงที่จะหยุดการรื้อถอนพื้นที่จากการขยายตัวของเหมืองถ่านหิน
ก่อนหน้านี้นักกิจกรรมในพื้นที่พยายามปกป้องพื้นที่นี้จากการถูกเหมืองถ่านหินทำลายและปกป้องชุมชนจากการถูกขับไล่ออกจากพื้นที่มาแล้วกว่าสองปี โดยบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล RWE ได้ซื้อพื้นที่ดังกล่าวเพื่อขยายพื้นที่เหมืองถ่านหินการ์ซไฟเลอร์ ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี การประท้วงครั้งนี้มีนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดังอย่าง เกรียตา ทุนแบร์ย มาร่วมการประท้วงอีกด้วย
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศของกรีนพีซ ปีนแท่นขุดเจาะน้ำมันขนาดใหญ่ของเชลล์ เรียกร้องให้เชลล์ ‘หยุดขุดเจาะและจ่ายค่าความสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ หลังจากเชลล์ประกาศแสวงหาน้ำมันเพื่อผลกำไรในมหาสมุทร นักกิจกรรมกรีนพีซสากล 4 คน ขึ้นเรือไวท์ มาร์ลิน (White Marlin) ในทะเลตอนเหนือของเกาะคันนารี่ และประท้วงโดยสันติเพื่อคัดค้านการทำลายสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่เกิดขึ้นจากการขุดเจาะน้ำมันเชลล์และกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล โดยที่บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศแม้แต่น้อย
โดยนักกิจกรรมมีข้อเรียกร้องในกิจกรรมครั้งนี้โดยนอกจากเชลล์จะต้องหยุดโครงการขุดเจาะใหม่แล้วจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่อผลประโยชน์ต่อชุมชน การสร้างงานและเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ
นอกจากการเรียกร้องที่เรือขุดเจาะแล้ว ยังมีกลุ่มผู้รอดชีวิตและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นเพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และผู้สนับสนุนจากกรีนพีซ ฟิลิปปินส์ เดินทางมายังสำนักงานใหญ่ของเชลล์ เพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้เชลล์หยุดการแสวงหาผลกำไรจากการทำลายสภาพภูมิอากาศและต้องจ่ายเงินชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อีกด้วย
และในเดือนพฤษภาคม นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศกว่าร้อยคนจาก กรีนพีซ (Greenpeace) สเตย์ กราวด์ (Stay Grounded) เอ็กสติงชั่น รีเบลเลียน (Extinction Rebellion) ซายน์แอนทิส รีเบลเลียน (Scientist Rebellion) และกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสภาพภูมิอากาศอีกกว่า 17 ประเทศ เข้าประท้วงในมหกรรมการซื้อขายเครื่องบินส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ในกรุงเจนีวา เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้เครื่องบินส่วนตัว (private jet) กิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ต่อเนื่องมาจากการประท้วงคัดค้านการใช้เครื่องบินส่วนตัว
ยานพาหนะชนิดนี้มีประชากรเพียง 1% เท่านั้นที่เข้าถึงและได้ใช้ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษมากกว่าประชากรที่เหลือ กลายเป็นความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เพราะการซื้อขายเครื่องบินส่วนตัวของกลุ่มคนร่ำรวยกำลังก่อมลพิษมหาศาล อัตราการซื้อเครื่องบินส่วนตัวพุ่งทะยานสูงขึ้น เช่นเดียวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพภูมิอากาศ
ภาระรับผิดและความโปร่งใส หลังเหตุการณ์ซีเซียม – 137 สูญหายจากโรงงานในปราจีนบุรี
กลายเป็นช่วงเวลาที่น่าวิตกกังวลหลังจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในจังหวัดปราจีนบุรี สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนในจังหวัดและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก จนกระทั่งต่อมา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ดังกล่าวถูกหลอมไปหมดแล้ว หลังตรวจพบระดับรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็ก (หรือมักเรียกกันว่าฝุ่นแดง) จากกระบวนการหลอมโลหะของโรงงานเค พี พี สตีล ใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
อย่างไรก็ตาม จากการแถลงข่าวโดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและคณะ ในวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา กลับระบุยังไม่อาจยืนยันว่า ฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ดังกล่าว มาจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายอย่างไร้ร่องรอยจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน
เพราะการให้ข้อมูลที่คลุมเครือเช่นนี้ในสถานการณ์วิกฤตที่ประชาชนต้องการความชัดเจน เพราะวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 อาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่อาจสัมผัสกับวัสดุดังกล่าวโดยบังเอิญ จึงทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงการจัดการกับวัสดุกัมมันตรังสี ความปลอดภัย และความชัดเจนของภาครัฐในการจัดการกับสถานการณ์ขณะนั้นอีกด้วย
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และกรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสรุปว่า กรณีนี้เป็นสถานการณ์อุบัติภัยร้ายแรงซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนและเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรอบด้าน แล้วเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส
เมื่อมีการตรวจสอบและพบว่ามีการกระทำความผิด หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดหรือละเมิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการให้เกิดการรับผิดชอบต่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
มัดรวมคำตอบของคำถามที่คุณน่าจะอยากรู้มาให้เข้าใจง่ายๆ กันไม่ว่าจะเป็นซีเซียม-137 คืออะไร ซีเซียม-137 มาจากไหน ซีเซียม-137 อันตรายไหม?
อ่านเพิ่มเติม‘เมืองเหนือบะไหวแล้ว’ ภาคเหนือวิกฤตหลังฝุ่นพิษคลุมทั่วเมือง ประชาชนเรียกร้องรัฐแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
อากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันอากาศสะอาดกลับกลายเป็นทรัพยากรที่เข้าถึงยากขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนยังคงต้องสูดฝุ่น PM2.5 โดยไม่เห็นวี่แววว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566 นี้ประชาชนในภาคเหนือต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่นพิษอย่างหนักจนท้องฟ้ากลายเป็นสีฝุ่น
การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทย และการขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงคือหนึ่งในเบื้องหลังปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ ทว่าเรื่องนี้ยังไม่เคยถูกจัดการอย่างจริงจังโดยรัฐ อีกทั้งยังมีนโยบายหลายชุดที่ส่งเสริมการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอุตสาหรรมเนื้อสัตว์มายาวนาน
ดังนั้นการจะแก้ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือที่เป็นมลพิษข้ามพรมแดน โดยโทษเกษตรกรที่เผาพื้นที่เพาะปลูกเพียงฝ่ายเดียว และเพิกเฉยไม่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่มีส่วนสำคัญในการก่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ท่ามกลางวิกฤตฝุ่นพิษเช่นนี้ เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และประชาชน จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566
ข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยกรีนพีซศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในรายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563 ระบุว่า ในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือของสปป.ลาว
คุณภาพอากาศประเทศไทยแย่ติดอันดับ TOP5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ 57 จาก 131 ประเทศ และทุกภูมิภาคทั่วโลก
แม้ว่าปี 2565 ไทยมีคุณภาพอากาศดีขึ้นเมื่อเทียบปี 2564 อันเนื่องมาจากปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ เช่น ความชื้นสูงและพายุอันเนื่องมาจากปรากฎการณ์ลานีญา แต่มาตรการของรัฐบาลยังห่างไกลจากการต่อกรวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รากเหง้าอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งเห็นได้จากความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 โดยรวมของประเทศยังสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
อย่างไรก็ตามในปี 2566 นี้ก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่าไทยจะต้องเผชิญกับปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะทำให้ปริมาณฝนลดลงและเกิดความแห้งแล้งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ของประเทศในอนาคต
ดังนั้น ไทยต้องกำหนดให้มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษ PM 2.5 จากปลายปล่องและจากแหล่งกำเนิดหลัก (Emission Standard) และออกกฎหมาย PRTR ที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5
กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดแคมเปญ #VoteForClimate #เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม เพราะเราเชื่อว่า ‘สิ่งแวดล้อมดีเมื่อการเมืองเป็นธรรม’ ต้อนรับ #เลือกตั้ง66
เพราะสิ่งแวดล้อมกับคุณภาพชีวิตของเราเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาขยะพลาสติก หรือความเสี่ยงของประเทศต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ในเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ในการชี้แนะทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมผ่านอุดมการณ์หรือแนวนโยบาย ของพรรค และเมื่อพรรคการเมืองได้จัดตั้งรัฐบาล อุดมการณ์และแนวนโยบายดังกล่าวก็จะกลายเป็นทิศทางของประเทศ
และในปี 2566 นี้ เรากำลังจะได้เลือกตั้งกันอีกครั้ง กรีนพีซ ประเทศไทยจึงเปิดแคมเปญรณรงค์ #เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม #VoteForClimate ชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนมาร่วมโหวตพรรคการเมืองที่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย
นอกจากการรณรงค์ชวนประชาชนมาร่วมเลือกตั้งแล้ว เรายังรวบรวมข้อเรียกร้องในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทุกด้านที่องค์กรกำลังรณรงค์อยู่ มาปรับเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและยื่นต่อพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะนำไปปรับใช้ในการออกแบบนโยบายของพรรคตนเอง โดยหยิบยกประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) เพื่อนำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมต่อพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน ดังนี้
- การให้ความสำคัญและรับรององค์ความรู้และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ขณะที่กำหนดจุดยืนในเวทีโลกที่หนักแน่นในการจัดตั้งและดำเนินการกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อกลุ่มประเทศที่เปราะบางจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
- การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) และประชาธิปไตยทางพลังงาน (Energy Democracy)
- มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก (PM2.5)
- มลพิษพลาสติก
- มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
- สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
กรีนพีซเชื่อว่าการเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคมและประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางความคิดและเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายอย่างแข็งขันและมีความหมาย
ผ่านแล้ว! ทั่วโลกร่วมลงนามสนธิสัญญาทะเลหลวง ที่จะปกป้องพื้นที่มหาสมุทรโลก แต่โครงการเหมืองทะเลลึกยังได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง
ความจริงแล้วโลกผลักดันร่างสนธิสัญญาทะเลหลวงมาเป็นระยะเวลายาวนานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และด้วยความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ นักกิจกรรม และผู้คนทั่วโลกที่พยายามผลักดันจนทำให้ให้เกิดสนธิสัญญาดังกล่าว
กระทั่งปี 2560 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีการจัดให้มีการประชุมสหประชาชาติคุ้มครองด้านความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง (IGC) โดยกำหนดให้มีประชุมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2562 ซึ่งกรีนพีซ สากล เสนอแผน 30×30 หรือ แผนการปกป้องมหาสมุทรโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573 การประชุมต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากการระบาดของโควิด – 19 และกลับมาประชุมครั้งที่ 4 เต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตามการประชุมนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้ต้องมีการจัดประชุมครั้งที่ 5 ในเดือนสิงหาคม 2565
การประชุมครั้งที่ 5 หรือ IGC5 ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้เช่นกัน เหตุผลหลักๆเกิดจากการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแบ่งปันทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (Marine Genetic Resources) แต่ในที่สุดการประชุมครั้งที่ 6 ในเดือนมีนาคม 2566 ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญา นับเป็นก้าวแรกของการปกป้องมหาสมุทรโลก
กรีนพีซ ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยฉายวิดีโอลงบนอาคารของสถานที่สำคัญในนิวยอร์ก กดดันให้ผู้ร่วมประชุมทั้งหมดเร่งผ่านสนธิสัญญาให้ได้ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้สามารถสร้างเขตคุ้มครองมหาสมุทรได้ทันเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2573 ทั้งนี้ ยังมีณิชนันท์ ตัณธนาวิทย์ นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
ณิชนันท์เล่าถึง 38 ชั่วโมงมาราธอนก่อนจะมีการยืนยันข้อตกลงสนธิสัญญาว่า “ตลอด 38 ชั่วโมงภายในสำนักงานใหญ่สหประชาชาติเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การคาดเดา และความกังวลใจของภาคประชาสังคมที่เข้าไปสังเกตการณ์การเจรจา แต่เราก็ยังเต็มไปด้วยความหวังและความเชื่อมั่นว่า ในท้ายที่สุดของการประชุมครั้งนี้เราได้สนธิสัญญาทะเลหลวง และเราก็ทำได้ในที่สุด”
สนธิสัญญาทะเลหลวง จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างแหล่งคุ้มครองมหาสมุทรทางทะเลกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกภายในปี 2573 หรือภายใน 7 ปีหลังจากนี้ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นต่ำสุดที่จะช่วยให้มหาสมุทรที่เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ได้มีโอกาสฟื้นฟู
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือรัฐบาลทั่วโลกที่ลงนามเห็นด้วยกับสนธิสัญญาทะเลหลวง ให้สัตยาบันกับสนธิสัญญาดังกล่าว และบังคับใช้เพื่อสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลได้ทันตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงโดยองค์การสหประชาชาติจบลงไม่ถึงสองสัปดาห์ ก็มีการประชุมองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศครั้งที่ 28 เริ่มต้นด้วยการรวมตัวกันของผู้นำระดับโลกที่เมืองคิงสตัน ในจาไมกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของอนาคตของมหาสมุทร เพราะบริษัทเหมืองใต้ทะเลลึกกำลังเร่งผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงชนิดนี้
โครงการเหมืองทะเลลึกคือการทำเหมืองเพื่อขุดโลหะและแร่จากพื้นก้นทะเล ซึ่งเป็นประเภทอุตสาหกรรมทำลายล้างที่สร้างความเสียหายต่อมหาสมุทรมากเกินกว่าที่ระบบนิเวศจะฟื้นฟูตัวเองได้ รวมทั้งยังเป็นภัยคุกคามและอุปสรรคสำคัญต่อคุณสมบัติการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศของมหาสมุทร แต่อุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลลึกพยายามบีบบังคับรัฐบาลต่าง ๆ ด้วยการใช้ช่องโหว่และความคลุมเครือของกฎหมายเพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม
หลายประเทศรวมถึง เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน ชิลี นิวซีแลนด์ และอีกหลายรัฐในหมู่เกาะแปซิฟิก ลงความเห็นว่าโครงการเหมืองทะเลลึกเสี่ยงเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยผู้คัดค้านกำลังรวมตัวกันเรียกร้องให้โครงการหยุดการดำเนิการขอใบอนุญาตชั่วคราว และพยายามเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลออกใบอนุญาตการทำเหมือง นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องจากนักรณรงค์อีกหลายประเทศรวมถึงในอังกฤษที่นักรณรงค์กำลังเรียกร้องให้อังกฤษเข้าร่วมกับรัฐบาลจากประเทศอื่น ๆ และสนับสนุนการระงับการดำเนินการชั่วคราวนี้
กรีนพีซเรียกร้องการปกป้องมหาสมุทรจากการทำลายล้างจากโครงการเหมืองทะเลลึกที่จะเป็นตัวเร่งให้มหาสมุทรเสื่อมโทรมเร็วลงกว่าเดิม และรัฐบาลแต่ละประเทศต้องการันตีว่าจะไม่ปล่อยให้โครงการเหมืองทะเลลึกเดินหน้าต่อไปได้
สถานการณ์มลพิษพลาสติก การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่รายล้อมด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และการฟอกเขียวอย่างหนักหน่วง
โลกของเรากำลังถูกทำร้ายจากมลพิษพลาสติกที่ลุกลามไปทั่วทุกมุมโลกซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่างปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาเรื่องขยะนำเข้า ในปี 2561 ขยะนำเข้าในอินโดนีเซียสูงขึ้นกว่าเดิม 141% หรือคิดเป็น 283,152 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับความกว้างของสนามฟุตบอลวางต่อกันสามสนามฟุตบอล
ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาขยะปริมาณมหาศาลเท่านั้น แต่ความจริงแล้วพลาสติกคือเชื้อเพลิงฟอสซิลและยังก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะพลาสติก 99% ผลิตจากน้ำมันและก๊าซ โดยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) มีส่วนทำให้เกิดการผลิตพลาสติกในปริมาณมหาศาลในแต่ละปี
มีรายงานว่าบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลยักษ์ใหญ่ ExxonMobil, Dow, Shell และอื่น ๆ อีกมากมายหันมาลงทุนเพิ่มโดยการเพิ่มกำลังการผลิตและสร้างโรงงานปิโตรเคมีเพิ่มเติม หากเป็นเช่นนี้ภายช่วง 10-15 ปีข้างหน้า มลพิษพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและเป็นสามเท่าภายในปี 2593
พลาสติกยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างชัดเจน เพราะกระบวนการผลิตพลาสติกปล่อยสารเคมีอันตรายระหว่างการสกัดและถูกผลิตออกมาเป็นเม็ดพลาสติก การสัมผัสกับสารเคมีระหว่างใช้งาน และหลังการใช้งาน พลาสติกยังกลายเป็นขยะซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
สนธิสัญญาพลาสติกโลกจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เรายุติมลพิษพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นได้ ซึ่งก่อนหน้านี้การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกเริ่มขึ้นในปี 2565 และเรามีเวลาจนถึงปี 2567 เพื่อทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นจริง มีความเข้มแข็ง มุ่งมั่น และมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เริ่มมีการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามในข้อตกลงที่มีผลในทางกฎหมายเพื่อยุติมลพิษพลาสติกภายในปี 2567 อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ล็อบบี้อย่างหนักเพื่อให้การเจรจาในครั้งนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลผ่านหลายช่องทาง
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมทั่วโลกและนักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าสหประชาชาติจำเป็นที่จะต้องร่วมมีส่วนมาผลักดันให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกเกิดขึ้นจริงและบังคับใช้ในทันทีเพื่อยุติมลพิษพลาสติก หลุยส์ เอดจ์ นักรณรงค์โครงการยุติมลพิษพลาสติกระดับโลก กรีนพีซ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “สนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นโอกาสครั้งเดียวเท่านั้นที่เราจะยุติมลพิษพลาสติกได้ ไม่ว่าการเจรจาครั้งนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมีการเข้มงวดกวดขันให้แน่ใจและเชื่อมั่นในนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายว่าเราควรค่อย ๆ ลดการผลิตและการใช้พลาสติกและยุติไปในที่สุด”
ก่อนหน้าการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก (INC2) รอบที่สองซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 29 พฤษภาคมถึง 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ภาคประชาสังคมและนักวิทยาศาสตร์กว่า 150 กลุ่มทั่วทุกมุมโลก รวมถึงนักชาติพันธุ์วิทยา นักมานุษยวิทยาและดร.เจน กู๊ดดอลล์ ทูตสันติภาพของสหประชาชาติได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงสหประชาชาติให้จับตามองอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลระหว่างการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อให้การเจรจาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ
ด้านประเทศไทยเองก็มีตัวแทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกโลกด้วย ซึ่งกรีนพีซ ประเทศไทยเอง มีความเห็นต่อกรอบท่าทีของตัวแทนของรัฐบาลไทยว่า ไทยต้องต้องตระหนักว่า มลพิษพลาสติกส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและพรรณพืช ตลอดจนเป็นสาเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเชี้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมพลาสติกและภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายเร็ว (Fast Moving Consumer Goods—FMCGs) ยังคงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเล็งเห็นผลกำไรของบริษัทมากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน ดังนั้น สนธิสัญญาพลาสติกโลกจะต้องมุ่งเน้นการลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซฟอสซิลเพื่อผลิตพลาสติกของผู้ก่อมลพิษพลาสติกรายใหญ่
ท่าทีของประเทศไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดมาตรการภายใต้สนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะยกร่างสุดท้ายภายในปี 2568 จะต้องยึดมั่นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและกลุ่มเปราะบางโดยยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน การยุติมลพิษพลาสติกตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก การลดการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกบริสุทธิ์(vergin plastics) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon) ของเสียเหลือศูนย์ (zero-waste) และไร้สารพิษ (toxic-free) และระบบเศรษฐกิจบนรากฐานของการใช้ซ้ำ (reuse-based economy)